สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ - ไขปริศนาฆาตกรรมอิงประวัติศาสตร์
"ความดีของหนังสืออยู่ที่มีคนอ่าน
หนังสือเกิดขึ้นจากสัญญะที่พาดพิงถึงสัญญะอื่นๆ
ซึ่งย้อนกลับมาพาดพิงถึงสิ่งต่างๆ
หากปราศจากดวงตาที่อ่านหนังสือ
มันก็บรรจุเพียงสัญญะที่ไม่ก่อให้เกิดมโนทัศน์
ฉะนั้นมันย่อมกลายเป็นเบื้อใบ้"
(สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ, Umberto Eco)
"สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (The Name of the Rose)"
ผู้เขียน: Umberto Eco
ผู้แปล: ภัควดี
สนพ. ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง, 2553
เลือกเล่มนี้มาอ่านเป็นหนังสือเล่มแรกรับปีใหม่ 2558
อ่านจบใน 4 วัน หนังสือหนามาก ตัวหนังสือก็เล็ก
รายละเอียดนี่อัดแน่น เน้นๆ เลยทีเดียว
ซื้อมาจากงานหนังสือเมื่อ 2 ปีที่แล้วมั้ง ถูกใจสันกระดาษที่ไม่เท่ากัน
(ไม่ได้สนใจเนื้อเรื่อง หรือรู้เลยว่าหนังสือเล่มนี้มันดัง)
"สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ" ช่วงแรกนี่ไม่สนุกเอาเลย
อ่านไปด้วยความทรมานเพราะต้องดึงสมาธิกลับมาอ่านต่ออยู่เรื่อยๆ
เนื้อเรื่องเกิดในโบสถ์แห่งหนึ่งในอิตาลี ยุคกลาง
ผ่านบันทึกการบอกเล่าของแอดโซ พระในนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์
แอดโซซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงนวกะ มีเหตุต้องเดินทางร่วมกับภราดาวิลเลียมผู้เป็นอาจารย์
เมื่อไปถึงโบสถ์แห่งนี้ก็ต้องประสบกับเหตุคดีฆาตกรรมปริศนา
ภราดาวิลเลียมถูกเจ้าอาวาสขอให้ช่วยสืบความหาตัวคนร้าย และหยุดการฆาตกรรม
เนื่องด้วยศรัทธาในชื่อเสียงทางสติปัญญาของเขา
บุคคลหลายท่าน และเรื่องราวทางศาสนา (คริสต์)
ที่เกิดขึ้นในเรื่องอิงมาจากบุคคล และเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น
ผู้เขียนใส่ข้อมูลมาเยอะมาก บทบรรยายก็ละเอียดวิจิตร
อ่านๆ ไปก็มีเบื่อๆ และไม่อินเพราะไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์เท่าไร
แม้ผู้แปลจะอุตสาหะค้นคว้าคำอธิบายมาให้ในเชิงอรรถก็ตาม
แต่มันก็ยังยากเกินกว่าสมองเม็ดถั่วของดิฉันอยู่ดี
เชิงอรรถที่อัดแน่นนี่ก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้การอ่านไม่ค่อยสนุก
เนื่องจากบางหน้า หรือบางจุดมีรายละเอียดต้องอธิบายเยอะ
การกล่าวอ้างอิงถึงบุคคลก็มาก
เชิงอรรถที่รวมๆ แล้วก็หนาเป็นร้อยหน้าจึงไปแยกส่วนอยู่ท้ายเล่ม
อ่านๆ แล้วก็ต้องสะดุด หยุดไปเปิดหา เลยอ่านไม่ต่อเนื่องเท่าไร
ทำให้ไม่อินกับเรื่องเท่าที่ควร
ประเด็นที่อ่านแล้วชอบที่สุด
ก็ตอนที่กล่าวถึงสำนวนเปรียบเทียบอำนาจการเยียวยาของลิ้นสุนัข
ว่าเหมือน "การสารภาพบาป"
สารภาพบาปเพื่อปลดเปลื้องความรู้สึกผิดในใจ
ความรู้สึกผิดนี้ก็เปรียบเหมือนบาดแผล
เวลาสุนัขมีแผล มันก็จะเลียแผลตัวเอง รักษาตัวเองตามสัญชาตญาณ
(จนสัตวแพทย์ต้องใส่ที่ครอบรูปร่างเหมือนโทรโข่งให้มัน
ป้องกันมันเลียแผลนั่นแหละ)
และยังการที่สุนัขชอบหวนกลับไปกินอาเจียนตัวเองก็เป็นสัญญาณเตือน
ว่าเรามีโอกาสกลับไปทำบาปเดิมซ้ำสอง
ความรู้เป็นได้ทั้งคุณและโทษ
และในยุคที่มีการปิดกั้นความรู้ให้อยู่เฉพาะกลุ่มนักบวช
มีการล่าและเผาผู้ที่มีแนวโน้มใช้ "เวทมนต์" และเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนจักร
การพูด อ่าน เขียน หรือทำสิ่งใดพลาดเพียงนิดเดียว
ก็อาจทำให้ตัวเองขึ้นไปอยู่บนตะแลงแกงได้ง่ายๆ
เมื่ออ่านถึงตอนที่การสืบสวนคดีความเริ่มเข้มข้นนี่ก็สนุกน่าติดตามขึ้นเรื่อยๆ
ปริศนาเกี่ยวกับเขาวงกตในหอสมุดของโบสถ์นี่ก็เจ๋ง
ภาษาสำนวนโวหารที่ใช้ก็สวยอ่ะ
อย่างตอนที่แอดโซพรรณาถึงตอนที่กุ๊กกิ๊กกับเด็กสาวนั่นบรรยายได้เห็นภาพ
และโรแมนติกเอามากๆ อ่านแล้วเคลิ้ม
อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ดีนะ
หนังสือดี บางทีมันก็ไม่สนุก เหมือนภาพยนตร์อ่ะแหละ
ยังไงก็อยากจะขอแนะนำให้ลองหามาอ่านกัน
ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งก็ว่าได้
ถ้าอ่านผ่านช่วงแรกไปได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่ง 55
ท้ายเล่มยังมีคำอธิบายของ Umberto Eco ถึงการเขียนหนังสือเล่มนี้
และที่มาของชื่อเล่มด้วย ทำไมต้องดอกกุหลาบ
เอาเป็นว่าบางทีคุณอ่านแล้วอาจจะชอบ จะได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่าอะไรยังไง
"หนังสือไม่ได้มีไว้ให้เชื่อ แต่มีไว้ให้ค้นคว้า
เมื่อเราพิจารณาหนังสือสักเล่ม อย่าถามว่ามันบอกอะไร
แต่จงถามว่ามันมีความหมายอย่างไร"
(สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ, Umberto Eco)
Comments
Post a Comment