Genderism โตมร ศุขปรีชา "ทั้งนี้เพราะโลกไม่ได้มีเพียงสองเพศ"
“…ไม่บังควรอย่างยิ่ง
ที่ใครจะยกเอามาตรฐานศีลธรรมของตัวเองไปตัดสินคนอื่น”
- โตมร ศุขปรีชา, Genderism
"Genderism"
ผู้เขียน: โตมร ศุขปรีชา
สนพ. อะบุ๊ก, พิมพ์ครั้งที่ 4 (Limited Edition), กรกฎาคม 2556
รวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกัน "Genderism" ที่เคยตีพิมพ์ลงใน a day weekly โดยคุณโตมร ศุขปรีชา หนังสือเล่มนี้นับเป็นงานเขียนของคุณโตมรเล่มแรกที่ได้อ่าน ที่ผ่านมาเคยอ่านแต่ผลงานแปล ใน Genderism นี้ชื่อก็น่าจะบอกถึงประเด็นของเนื้อหาได้ชัดเจนดีแล้ว คุณโตมรทำการตัดหั่นชำแหละผ่าวิเคราะห์วิพากษ์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ "เพศ" ไล่ไปตั้งแต่เรื่องที่(ดู)เล็กๆ ไปถึงเรื่องระดับการเมือง ระดับชาติ
ถ้อยคำในแต่ละบทจัดว่าถึงพริกถึงขิง ชัด ตรง แรง กระแทกอารมณ์ได้มันมาก อย่างเช่น ทำไมคนเราถึงจะดอกทองไม่ได้หากว่าเขาอยากจะทำ การกดข่มเพศอื่นด้วยคำว่า 'ศีลธรรม' อัน(ที่เราว่า)ดีที่สังคมมักใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสินพิพากษา 'เหยื่อ' ไล่ลามไปจนถึงเรื่องทางการเมือง วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความคิดความเห็นของคนรอบตัวคุณโตมรต่อประเด็น talk of the town ในช่วงหนึ่ง ฯลฯ แต่บางบทก็ติดอารมณ์ประชดประชันกระแทกกระทั้นมากเกินไป ตามด้วยปริมาณ ! ที่เยอะตามมาด้วย ทำให้อ่านแล้วเหนื่อยอยู่เหมือนกัน
ทุกวันนี้เราอาจเห็นได้ชัดตาม social network หรือในสื่อต่างๆ ว่าเกิดคำเรียกเพศหลากหลายมากมายชวนสับสนไปหมด และหลายคนอาจคิดหรือเชื่อว่าสังคมไทยเราเปิดกว้างในเรื่องของเพศกันมากขึ้น แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงเหรอ? คุณเคยใช้คำพูดในทำนองเหยียดเพศอื่นไหม? เคยแสดงอาการกระอักกระอ่วนใจเวลาพูดคุยกับคนต่างเพศหรือเปล่า? เคยตัดสินการกระทำของใครว่าดีหรือเลวตามมาตรฐานของตัวเอง หรือสังคมบ้างไหม?
สิ่งที่ทำให้เห็นชัดว่าสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างในเรื่องของเพศก็เห็นจะเป็นเรื่องของการงาน บางบริษัท บางองค์กรปฏิเสธไม่รับบุคคลเพศที่สาม หรือในประกาศหางานเคยสังเกตไหมว่ามักจะระบุแค่ว่า ต้องการเพศชาย หรือหญิง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืองานบางตำแหน่งก็คิดกันว่าเหมาะสำหรับผู้หญิงทำเท่านั้น หรืองานนี้เหมาะสำหรับผู้ชายเท่านั้น เรื่องพวกนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็ทำให้เราเห็นชัดว่ามันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากในเรื่องของการแบ่งเพศ
การสรรหาถ้อยคำเรียกดูถูกเพศอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างกะหรี่ หรือตุ๊ด เคยว่าผู้ชายคนไหนด้วยวลีที่ว่า 'ไม่แมนเลย' หรือ 'โคตรตุ๊ด' ไหม? เคยลองนึกไหมว่าไอ้ที่เราไปเปรียบแบบนี้ เหล่าผู้เทย หรือตุ๊ดทั้งหลายเขาจะรู้สึกยังไง? สารภาพตามตรงว่าเคยด่าเพื่อนสนิทว่าตุ๊ดว่ะโดยไม่ทันได้คิด คือติดปากมาเฉยๆ จนวันหนึ่งได้อ่านข้อความในทวิตเตอร์จากตัวแทนของคนกลุ่มนี้ว่าเขารู้สึกแย่กับการด่าที่ไปกระทบกระเทียบกับกลุ่มเพศแบบนี้ ตุ๊ดไม่ดีตรงไหน? ทำไมต้องเอาไปใช้เป็นคำด่า ตุ๊ดบางคนมีความเป็นผู้ชายมากกว่าผู้ชายแท้ๆ เสียอีกนะ ซึ่งพอได้รู้แบบนี้แล้วก็เห็นด้วยนะ อารมณ์เดียวกับการด่าด้วยเชื้อชาติว่าลาวนั่นแหละ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำที่สุด ถ้าคนเราเลิกด่ากันโดยใช้คำเหยียดเพศ เชื้อชาติได้น่าจะดีกว่านี้นะ
"หลายครั้งเรา 'เหยียด' คนอื่นที่ต่างไปจากเราในด้านต่างๆ
เพราะเราไม่ได้ 'อดทนอดกลั้น' มากพอที่จะ 'รับฟัง' และ 'มองดู'
ด้วยสายตาอันละเอียดอ่อน
และมุ่งหมายจะทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง"
- โตมร ศุขปรีชา, Genderism
คุณโตมร ชี้แจงให้เราเห็นภาพชัดขึ้นจากมุมมองของเขาต่อเรื่องราวการเสแสร้งแกล้ง (กระแดะ) เป็นคนดีมีศีลธรรม และฉาบหน้าด้วยคำว่าดีงาม หรือศีลธรรมของสังคม สังคมที่ถือเพศชายเป็นใหญ่ และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น "ผู้หญิงใส่สายเดี่ยว" ถูกมองว่าแรด ไม่รักนวลสงวนตัว และกลายเป็นเหยื่อของสังคมให้ถูกกล่าวหา โสเภณีกลายเป็นตัวแทนของความเลวร้าย และถูกสังคมกดบีบให้ต่ำ และที่น่าตกใจและไม่เคยคิดถึงจุดนี้มาก่อนเลยก็คือผู้หญิงเราเองที่เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกับเพศชายนั่นแหละ มีส่วนกดข่มตัวเองด้วยความคิดความเชื่อที่ถูกบ่มให้ฝังติดถึงรากซึ่งเป็นผลมาจากกระแสสังคมที่เพศชายอวดเบ่งโชว์พาวฯ หรือการพยายามกดข่มเด็กด้วยการอ้าง 'ความเป็นผู้ใหญ่' ฯลฯ
อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินว่าเป็นหนังสือแแนว feminist หรือหนังสือสำหรับเกย์ หรือเลสเบี้ยน จริงๆ แล้ว Genderism เป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และทุกยุคทุกสมัยเลยนะ หนังสือเล่มนี้ดีและแนะนำให้อ่าน อ่านเพื่อให้ฉุกคิดแล้วหันมาย้อนดูตัวเอง เริ่มจากตัวเองก่อนเลย ทำความเข้าใจเสียใหม่ ลองมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่เราอาจไม่เคยมอง ไม่เคยนึกถึงมาก่อน อย่ามัวแต่คิดว่าเรื่องแค่นี้เอง คิดเยอะไปได้ เพราะจริงๆ แล้วมันควรจะคิดกันให้เยอะ ถ้าเราอยากให้สังคมเปิดกว้างในเรื่องของเพศจริงๆ อย่างที่คุณโตมรกล่าวไว้ในคำนำ "ทั้งนี้เพราะโลกนี้ไม่ได้มีเพียงสองเพศ"
Comments
Post a Comment