ปรัชญาประโลมใจ (The Consolations of Philosophy)

"บางครั้งผู้ที่กำลังทุกข์ใจจากปัญหาที่กำลังเผชิญ
อาจจะไม่ได้คาดหวังถึงทางแก้ปัญหา
หากแต่กำลังมองหาคำปลอบประโลมใจจากใครบางคน" 
- ปกใน #ปรัชญาประโลมใจ



ชื่อเรื่อง: ปรัชญาประโลมใจ (The Consolations of Philosophy)
ผู้เขียน: อัลเลน เดอ โบตอง (Alain de Botton)
ผู้แปล: พจมาน บุญไกรศรี
สนพ. เอนไลต์เทนพับลิชชิ่ง
พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2556

หนังสือปรัชญาเล่มแรกที่อ่าน
เหตุผลที่เลือกซื้อมาก็เพราะนักเขียนคนโปรดท่านนึง
คุณวิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ทวีตถึงหนังสือเล่มนี้
พอไปเจอเล่มจริงก็เกิดถูกอกถูกใจกับลักษณะการเข้าเล่มที่สันกระดาษด้านข้างไม่เท่ากัน
แถมสีปกก็สวยถูกใจ ทั้งหมดนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ และถูกชะตาเมื่อแรกพบ
สุดท้ายก็มาอยู่ในมือ

แต่ความน่าสนใจจริงๆ อยู่ที่เนื้อหาข้างใน
บางช่วงบางตอนอาจจะอ่านเข้าใจยากไปสักนิด แต่ก็สนุก
ผู้เขียนไม่ได้ชี้นำแนะแนวทางมากเกินไป
เพียงแต่นำเสนอแนวคิดให้บางส่วน
ที่เหลือนั้นคงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่ต้องคิดพิจารณาต่อเอง

ปรัชญาประโลมใจ (The Consolations of Philosophy) นั้น
นำเสนอแนวความคิดของนักปรัชญาดังๆ หลายท่าน
รวมกัน 6 บท สำหรับปัญหาหลักๆ ต่างๆ ของชีวิต 6 รูปแบบ ประกอบด้วย
ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบ - โสคราตีส (470 - 399 ปีก่อนคริสตกาล)
ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีเงินไม่พอ - เอพิคิวรัส (341 - 270 ปีก่อนคริสตกาล)
ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีความคับข้องใจ - เซเนกา (4 ปีก่อนตริสตกาล)
ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีความบกพร่อง - มงแตนญ์ (ค.ศ. 1533 - 1592)
ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่ผิดหวังในความรัก - โชเปนฮาวร์ (ค.ศ. 1788 - 1860)
และ ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่เผชิญกับความยากลำบาก - นิทซ์เช (ค.ศ. 1844 - 1900)
ในแต่ละบทนำเสนอชีวประวัติบางส่วน และแนวคิดของนักปรัชญาทั้ง 6 ท่าน
และหากคุณกำลังมองหาหนังสือที่เต็มไปด้วยถ้อยคำปลอบประโลม กินใจแบบเปิดเผยแล้วล่ะก็
คุณจะไม่เจอถ้อยความเหล่านั้นในหนังสือเล่มนี้หรอกนะ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบ
ชีวิตของโสคราตีสนั้นไม่ค่อยน่ารื่นรมย์เท่าไร
ปู่แกมีลูกศิษย์ลูกหาที่รักใคร่แกอยู่พอสมควรก็จริง
แต่คนที่ชิงชังและไม่เข้าใจความคิดความอ่านของปู่แกก็มี
และสุดท้ายแกก็ต้องโทษประหารชีวิตเพียงเพราะแกคิดเล่นเห็นต่างจากชาวบ้าน
จนถูกฟ้องด้วยข้อหานอกรีต และทำให้ชายหนุ่มในเอเธนส์กระด้างกระเดื่อง
ค่านิยมในยุคสมัยของปู่แกแตกต่างจากยุคเราอยู่มากโข
การช่างซักช่างถาม ตั้งข้อสงสัย ถกเถียงไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไร
(แนะนำให้อ่านเพิ่มในหนังสือ จะเห็นภาพชัดขึ้น)
โสคราตีสถูกตัดสินความต่อหน้าคณะลูกขุนจำนวนหนึ่ง
ซึ่งลูกขุนเหล่านั้นมิได้มีความรู้ทางกฎหมาย หรือความเข้าใจมากพอที่จะฟังคำชี้แจงจากโสคราตีส
ชาวเมืองกำลังโกรธเคืองจากการพ่ายแพ้สงคราม และกำลังมองหาอะไรสักอย่าง
หรือใครสักคนเพื่อชี้โทษ
และปู่โสคราตีสก็ตกมาเป็นเป้าพอดี
แม้จะมีทางรอดด้วยการยอมเปลี่ยนความคิด แต่ปู่แกก็ไม่ยอม
โสคราตีสยอมตาย แต่ไม่ยอมเสียความเป็นตัวเอง
สุดท้ายแกก็ต้องดื่มยาพิษ
ง่ายๆ เท่านั้นเอง การเอาชีวิตคนเพียง 1 คน
ด้วยเหตุผลขัดแย้งทางความคิด ความไม่ชอบใจ
เราไม่จำเป็นต้องเสียความเป็นตัวเอง ทำตามคนอื่นๆ เพียงเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบ
สิ่งสำคัญคือการคงความคิด ความเป็นตัวของตัวเองท่ามกลางความไม่ชอบนั้น
(แต่คงไม่ถึงขั้นต้องยอมตายแบบปู่แกหรอกเนาะ  = =")

"สิ่งที่เราควรจะวิตกกังวลไม่ใช่จำนวนคนที่คัดค้านเรา
แต่คือว่าพวกเขามีเหตุผลที่ดีแค่ไหนในการทำเช่นนั้น"
- อัลเลน เดอ โบตอง
#ปรัชญาประโลมใจ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีเงินไม่พอ
ในบทนี้นำเสนอแนวคิดของเอพิคิวรัส
ซึ่งเน้นปรัชญาทางด้านสุขนิยม
แม้ชื่อบทจะบอกว่าสำหรับผู้ที่มีเงินไม่พอ
แต่เอพิคิวรัสนั้นรวยทีเดียวนะ
แม้เอพิคิวรัสจะเน้นการหาความสำราญ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำว่ามีค่ามากกว่าเงินทอง
คือ "มิตรภาพ"

"ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่ปัญญาได้จัดหา
เพื่อช่วยให้คนเราใช้ชีวิตทั้งหมดได้อย่างมีความสุข
สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือมิตรภาพ"
- เอพิคิวรัส
#ปรัชญาประโลมใจ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีความคับข้องใจ
เซเนกานั้นเป็นคนที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล
เซเนกาชี้แจงว่าความโกรธ ความตกใจ ความวิตกกังวล และความคาดหวัง
นั้นคือต้นเหตุของความคับข้องใจ
ตามแนวคิดของเซเนกา เราจะโกรธ ผิดหวัง คับข้องใจ
เมื่ออะไรต่อมิอะไรไม่เป็นไปตามอย่างที่เรา "เชื่อ" ว่าควรจะเป็น
ยกตัวอย่างเช่น เราเอะอะโวยวายเมื่อหารีโมทคอนโทรลไม่เจอเพราะ
ความเชื่อที่มีนัยว่า มีโลกที่รีโมทคอนโทรลจะไม่ถูกวางผิดที่
(อัลเลน เดอ โบตอง, หน้า 113)
เราจึงควรคิดถึงคาดหวังในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ ความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
โดยเฉพาะด้านที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือด้านร้ายๆ

"เราต้องยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของการดำรงชีวิต
ซึ่งเป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"
- อัลเลน เดอ โบตอง
#ปรัชญาประโลมใจ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่มีความบกพร่อง
ความบกพร่อง หรือความผิดปกติอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้น
แต่อยู่ที่มุมมอง สถานที่ และเวลา
หากเรายอมรับในสภาพที่เป็น และเข้าใจความแตกต่าง
ความบกพร่องก็จะไม่เป็นความบกพร่องอีกต่อไป
เมื่อเราอยู่ในที่ๆ ที่หนึ่งที่มองว่าพฤติกรรม A เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่พอไปอีกที่หนึ่ง การประพฤติตนแบบ A นั้นอาจถูกมองว่าผิดปกติ
ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะแค่ "แตกต่าง"
เราไม่ควรยึดถือยึดมั่นในความเชื่อของตัวมากจนหย่อนไม่ได้
เหมือนอย่างที่มีคำกล่าวว่า เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแต่ขาว กับดำ
และมงแตนญ์ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับ "มิตรภาพ" คล้ายๆ เอพิคิวรัส
เขาเชื่อว่ามิตรภาพสามารถแก้ความบกพร่องได้

"การเรียนรู้ว่าเราพูดและทำอะไรโง่ๆ ลงไปนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เราต้องเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่า
นั่นก็คือการที่เราเป็นแค่คนโง่เขลา" 
- มงแตนญ์
#ปรัชญาประโลมใจ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่ผิดหวังในความรัก
ชีวิตรักของโชเปนฮาวร์นั้นเรียกได้ว่ารักคุด
ลุงแกไม่ค่อยมีโชคทางด้านนี้เท่าไร
คืออ่านชีวิตแกแล้วอาจจะช่วยให้ทำใจกับอาการอกหักง่ายขึ้นนะ
เพราะชีวิตแกรันทดกว่า 55

"การยอมรับมนุษย์ในแบบที่พวกเขาเป็นนั้นดีกว่าเข้าใจว่า
พวกเขาเป็นในแบบที่พวกเขาไม่ได้เป็น" 
- โชเปนฮาวร์
#ปรัชญาประโลมใจ

ปรัชญาประโลมใจสำหรับผู้ที่เผชิญกับความยากลำบาก
ดูเหมือนชีวิตนักปรัชญา หรือศิลปินคนดังในสมัยก่อนๆ นี่จะค่อนข้างรันทดนะ
นิทซ์เชเองก็เป็นอีกคนที่จบลงด้วยการเข้าโรงพยาบาลบ้า
แม้จะมีความคิดความอ่านฉลาดเฉลียว แต่สุดท้ายก็แพ้ต่อความเจ็บป่วย
นิทซ์เชนำเสนอว่าเราสามารถใช้ความทุกข์ ความอิจฉา
หรือความรู้สึกในแง่ลบมาเป็นพลังผลักดัน หรือเป็นผลดีต่อตัวเราเองได้
ความยากลำบาก ความผิดหวังสามารถเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จในอนาคตได้
หากเรานำมันไปใช้ถูกทาง ถูกวิธี
เหมือนอย่างราฟาเอล ที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างใน #ปรัชญาประโลมใจ
เขาอิจฉาในฝีมือของมิเคลันเจโล และลีโอนาโด ดา วินซี
หากแต่เขามิได้หมกมุ่นอยู่กับความอิจฉา และจ้องอาฆาตมาดร้ายผู้อื่น
เขานำมันมาเป็นแรงผลักในการศึกษาผลงานของทั้งสอง
และพัฒนาฝีมือตัวเองจนดีขึ้นเรื่อยๆ
เราไม่ควรทดท้อ ละทิ้งสิ่งที่หวังหรือเป้าหมาย เพียงเพราะผิดหวัง
ดังที่ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดของนิทซ์เชว่า
"ให้เชื่อมั่นในสิ่งที่เราปรารถนาต่อไป แม้ว่าเราจะไม่มีหรือไม่มีทางจะมี
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าให้อดทนต่อการถูกล่อลวงให้ลดค่าและประกาศว่าสิ่งนั้นชั่วร้าย
เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ยากจะได้มา"
อีกสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับความคิดของนิทซ์เช คือการเปรียบเทียบการแปลงแรงผลัก
กับการดูแลต้นไม้ของชาวสวน

รูปจากหน้า 298

ตามรูปนิทซ์เชเปรียบอารมณ์แง่ลบกับรากไม้ที่ไม่สวยงาม
แต่หากเราเอาอย่างชาวสวน ดูแล รดน้ำ ตัด ดัด ไม่นานก็อาจออกดอกสวยงาม


"...รากของต้นไม้อาจทำให้ต้นไม้ดูแปลกและไม่น่ารื่นรมย์
แต่ผู้ที่มีความรู้และความศรัทธาในศักยภาพของต้นไม้
จะทำให้ต้นไม้ออกดอกออกผลสวยงาม
เหมือนรากฐานของชีวิต
อาจจะมีความรู้สึกและเจอสถานการณ์ยากลำบาก
แต่แม้กระนั้นก็สามารถก่อให้เกิดความสำเร็จ
และความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้
โดยการบ่มเพาะอย่างระมัดระวัง"
- นิทซ์เช

สรุปแล้ว #ปรัชญาประโลมใจ นี้น่าสนใจ อ่านสนุก
อ่านแล้วได้คิดตามไปด้วย ชอบตรงมีประวัติของนักคิดทั้ง 6 ท่านให้อ่านด้วยล่ะ
เนื้อหาไม่น่าเบื่อ อ่อ ติดแค่ตรงคำนำนั่นแล ที่ยาวยืดไปหน่อย
จะเบื่อก็ตอนอ่านคำนำเนี่ยล่ะค่ะ 555
กะว่าถ้ามีโอกาสจะหยิบมาอ่านอีกรอบ
สนใจเสาะหามาอ่านกันได้นะคะ

"การอ่านปลอบใจข้าพเจ้า
ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าปลีกตัวออกจากสังคม
บรรเทาข้าพเจ้าจากความเกียจคร้านที่น่าระทมทุกข์ 
และสามารถทำให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากคนที่น่าเบื่อได้ทุกครั้ง 
การอ่านทำให้การทิ่มแทงของความเจ็บปวดไม่ระคายผิว 
ตราบใดที่ความเจ็บปวดนั้น ไม่มีพลังมากเกินไป
หรือไม่สุดโต่งจนเกินไป 
ข้าพเจ้าพึ่งพาหนังสือเหล่านี้
เพื่อหันเหความสนใจจากความคิดที่ขุ่นหมอง" 
- มงแตนญ์
#มีความบกพร่อง #ปรัชญาประโลมใจ

Comments

  1. Great book, from the number one translator of my world.

    ReplyDelete

Post a Comment

Popular posts from this blog

[Spoiler Alert] เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) สปอยล์แหลกตามคำขอของน้อง

มี บีฟอร์ ยู

จอมนางคู่บัลลังก์ - ศึกรบ ศึกรักระหว่างกุนซือหญิงลือนามกับอ๋องนักรบมากความสามารถแห่งแคว้นศัตรู