จดหมายรักยาขอบ - เมื่อชีวิตจริงไม่ได้อิงนิยาย
"ฉันตั้งต้นจดหมายด้วยความคิดถึงคุณอย่างลึกซึ้ง
แต่จะจบลงด้วยความหวาดหวั่นอันลึกซึ้งเหมือนกัน"
- ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์), จดหมายรักยาขอบ,
ฟรีฟอร์มสนพ., หน้า 31
"จดหมายรักยาขอบ"
ผู้เขียน: ยาขอบ และพนิดา
สนพ. ฟรีฟอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3, มกราคม 2552
ซื้อเล่มนี้จากงานสัปดาห์หนังสือมานานละ ไม่ได้ฤกษ์หยิบมาอ่านเสียที ตอนนั้นยังไม่รู้จักยาขอบเท่าไรนัก พอรู้แค่เลา ๆ ว่าเป็นนักเขียนดัง จนได้อ่านหนังสือของคุณ 'ปราย พันแสง ละเธอกล่าวถึงนักเขียนท่านนี้อยู่เนือง ๆ เลยสนใจ เห็นว่าวาทะคมคายเหลือร้าย จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ไปอ่านเรื่องย่อเพื่อนแพง ผลงานเด่นอีกเรื่องของยาขอบเข้าตามที่เคยเขียนไว้ในบล็อก ความเอ๋ยความรัก - 'รักแท้' รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รัก ยาขอบ คราวนี้ชื่นชอบฝีปากกายาขอบถึงขั้นกรี๊ด สำบัดสำนวนร้ายจริง ๆ
นั่นแหละ ถึงได้ไปขุด "จดหมายรักยาขอบ" เล่มนี้มาอ่าน อยากรู้นักว่าฝีปากกาในการเขียนนิยายร้ายขนาดนั้น ในจดหมายรักของตัวเองจะร้ายขนาดไหน จดหมายรักทั้งหมดของยาขอบที่รวบรวมมาได้มี 700 ฉบับ 60 กว่าฉบับในนั้นคือจดหมายที่ท่านเขียนถึง พนิดา และจดหมายโต้ตอบของยาขอบและพนิดานี่เองที่รวบรวมมาไว้ใน "จดหมายรักยาขอบ" เล่มนี้
ตอนที่ยาขอบรักกับพนิดานั้น พี่ท่านมีภรรยามาแล้วถึง 4 คนเทียวนะคุ้ณณณณ นี่เฉพาะที่อยู่กันอย่างเปิดเผยนะ ยังไม่นับบรรดาแม่เล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหลายของท่านอีกไม่รู้กี่สิบ คิดดูละกัน ยังมาเขียนจดหมายรักเกี้ยวพาราสีสาวน้อยอีกคนได้ เรียกว่าเจ้าชู้คงไม่ถือว่าเราด่วนตัดสินท่านเกินไปนัก ภรรยาที่อยู่กินกันอย่างเปิดเผยทั้ง 4 ก็ได้แก่ 1. คุณจรัส (มีลูกชายกับยาขอบคนหนึ่ง ชื่อมานะ แพร่พันธุ์), 2. สงวนศรี, 3. ชลูด, และ 4. ประกายศรี หรือคุณศรี
"คนแรกให้ลูกชายคนเดียว (มานะ แพร่พันธุ์) คนที่สองให้จดหมายรักสีชมพูหอบใหญ่ และเป็นที่มาของผู้ชนะสิบทิศ คนที่สามเป็นผู้อ่านที่คลั่งไคล้ผู้ชนะสิบทิศ กำลังเรียนอยู่ปีนัง ตะละแม่ผู้นี้ลงทุนขับรถยนต์ข้ามแดนมาซื้อประชาชาติ ซึ่งลงพิมพ์ผู้ชนะสิบทิศที่หาดใหญ่ทุกวันอาทิตย์ ร่วมชีวิตอยู่ 5 ปี คนที่ 4 รักษาพยาบาลในยามที่ยาขอบเจ็บไข้จนกระทั่งสิ้นสังขาร" (วัฒน์ วรรลยางกูร, ยาขอบอนุสรณ์, คำนิยม, ความรักหมายเลข 5 และความตาย)
ตัวพนิดาเองตอนรักกับยาขอบก็เป็นเพียงสาวรุ่นวัยขบเผาะ อายุประมาณ 20 ปีเท่านั้นเอง เธอสนใจงานเขียน อยากเป็นนักเขียน คุณเทียน เหลียวรักวงษ์เพื่อนของยาขอบคือผู้ที่ฝากฝังให้พนิดามาฝึกฝนงานเขียนกับยาขอบ ช่วงแรกของความสัมพันธ์ยาขอบยังไม่ได้เลิกรากับคุณศรีอย่างเด็ดขาด มาหย่ากันในภายหลัง ตอนจะหย่านี่ก็มีมิตรมากมายมาเจรจาไม่ให้เลิกกับคุณศรี ตามที่ยาขอบอธิบายต่อบรรดามิตรทั้งหลายนั้นท่านว่าท่านรักคุณศรีอย่างน้อง ไม่ได้รักอย่างเมีย และที่จะเลิกกับคุณศรีก็ไม่ใช่เพราะจะไปอยู่กินกับสุนี (ผู้หญิงอีกคนที่ทุกคนเข้าใจว่ายาขอบตั้งใจจะไปอยู่กินด้วย ยังไม่มีใครรู้เรื่องของพนิดา) ยาขอบกับพนิดาเขียนจดหมายรักหากันอย่างนั้นนานเป็นปี ๆ อยู่ละมั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สมหวังกัน กระทั่งยาขอบเสียชีวิตตอนอายุ 48 ปีด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน ฯลฯ คุณศรี ภรรยาคนที่ 4 คือผู้ที่อยู่เคียงข้างคอยดูแลจนวาระสุดท้าย ไม่น่าเชื่อว่าจากคนที่ไม่เคยดื่มเหล้าเลย กลับมาดื่มหนักจนเสียชีวิต (ที่ยาขอบดื่มหนักมากจนล้มป่วยนั้นอาจเป็นได้ว่าเพราะทุกข์หนักในเรื่องรักที่ไม่สมหวังกับพนิดา) พนิดาเสียชีวิตตามไปหลังจากนั้น 5 - 6 ปี ในวัย 40
จดหมายโต้ตอบระหว่างทั้งสองที่รวบรวมมานี้เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ยาขอบเตรียมตัวจะบวช และการบวชนี้ยาขอบก็ตั้งใจว่าจะล้างตัวให้สะอาด เพื่อให้คู่ควรกับพนิดา เพราะยาขอบนั้นขึ้นชื่อในเรื่องเจ้าชู้หลายเมีย แล้วยังสังคมเก่ง นำเงินไปเลี้ยงเพื่อนฝูงอยู่บ่อย ๆ พอมารักกับพนิดาก็เลยติดขัด จัดอยู่ในรักต้องห้ามเลยแหละ (อย่างที่บอกว่าช่วงแรก ๆ นั้นท่านยังไม่ได้เลิกกับคุณศรีอย่างเด็ดขาด แถมมีเมียแล้วตั้ง 4 ไม่รวมบ้านเล็กบ้านน้อย) ถ้าจะไปรักชอบ หรือสู่ขอทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อนฝูง และสังคมคงไม่ยอมรับอะไรแบบนี้ และยาขอบเองคงตั้งใจใช้การบวชเป็นการเริ่มต้นใหม่ ชำระล้างสิ่งไม่ดี จะได้ทำตัวเสียใหม่ให้สมกับพนิดา แต่เข้าไปอยู่วัดได้แค่ 3 วันเพื่อเตรียมตัวบวชก็เขียนจดหมายบอกพนิดาละว่าทนอยู่ไม่ได้ เพราะจะไม่ได้เจอพนิดา แหมะ!
"ด้วยการบวชสอนไม่ให้ทำสิ่งใดที่เป็นเท็จ
เพราะฉะนั้นเมื่อรัก เมื่อคิดถึง
จะให้เก็บงำไว้ หรือปกปิดเท็จด้วยกิริยาอาการ
ว่าไม่ได้คิดถึงนั้นควรจะบาปมากกว่า"
- ยาขอบ, จดหมายรักยาขอบ, หน้า 25
เนื้อหาในจดหมายก็มีการเกี้ยวพาราสี ตัดพ้อ รำพึงรำพันถึงความคิดถึงกันตามปกติของจดหมายรัก นอกจากนี้ก็มีการให้กำลังใจในการทำงาน และให้คำแนะนำในงานเขียนจากยาขอบต่อพนิดา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้นไม่มีเรื่องทางกายเข้ามาเกี่ยว ดังเนื้อหาในจดหมายฉบับที่ 22 ยาขอบเขียนถึงพนิดาว่าปรารถนาในรสจูบ และอยากกอดเธอเสียเหลือเกิน แต่ก็ยั้งไว้เพราะไม่อยากทำให้พนิดานั้นต้องแปดเปื้อน "แต่ฉันได้ผู้หญิงคนนั้นมาโดยปราศจากการถูกต้องแม้แต่เพียงนิดเดียว ในลักษณะสัมผัสของชู้สาว ฉันได้หัวใจดาด้วยวิธีอันบริสุทธิ์และสะอาดเหลือเกิน ชื่นใจในข้อนี้" (หน้า 114)
จดหมายฝั่งยาขอบนั้นมักจะยาวกว่า เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าฝ่ายหญิง ซึ่งก็คงสงวนเนื้อสงวนตัว และอาจจะระแวงอยู่บ้างแหละว่าเนื้อความในจดหมายอาจหลุดไปถึงผู้อื่น และถ้าดูจากที่ยาขอบเขียนวิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้หญิงอื่นให้เธออ่านแล้ว เป็นเราก็กลัวว่ายาขอบจะเอาเราไปพูดไปนินทากับคนอื่น อย่างในจดหมายฉบับหนึ่งยาขอบกล่าวติผู้หญิงคนหนึ่งค่อนข้างจะแรงนะ อ่านแล้วเราไม่ชอบเท่าไร ผู้ชายที่ว่าผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้หญิงอีกคนเนี่ยไม่น่าปลื้มอ่ะ ประมาณว่าผู้หญิงคนนี้มาหลงมาชอบเขา แต่นางทำตัวหยิ่งเลิศเลอเสียเต็มประดา ไปเจอในกระทู้นี้ เรือนไทยวิชาการ - สาวน้อยผู้นั้นของยาขอบ เขาว่าผู้หญิงคนนั้นคือ 'ดอกไม้สด' นักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ส่วนที่น่าสนใจคือสำนวนกระทบกระเทียบแดกดันของยาขอบ ร้ายไม่แพ้บทรักเทียวล่ะ จดหมายทั้งหมดพนิดานำไปมอบให้กับมิตรสนิทท่านหนึ่งหลังจากที่ยาขอบเสียชีวิต พร้อมอนุญาตว่าให้เอาไปตีพิมพ์ได้ แต่กว่าจะนำมาตีพิมพ์จริง ๆ ก็หลังจากที่พนิดาเสียชีวิตไปแล้ว
ทั้งพนิดา และยาขอบเรียกได้ว่าโต้ตอบกันได้คู่คี่สูสี เหมือนดูเทนนิสที่ตีโต้กันไปมา สำนวนถ้อยคำนี่ถึงแม้จะตัดความเป็นนิยายออกไป แต่ก็มีจิกหมอนและเด็ดดวงอยู่ไม่น้อยเลยนะ ยิ่งฝั่งยาขอบนี่ถ้าใครอิน ๆ นี่มีหน้าแดงร้อนผ่าวได้เลย เตรียมหมอนไว้จิกกันได้เป็นโกดังเลยคุณเอ๋ย เอาแค่คำขึ้นต้น ลงท้ายจดหมายนี่ก็ไม่ธรรมดาแล้ว ยกตัวอย่างฝั่งยาขอบที่ใช้แค่คำธรรมดานะ แต่เราอ่านแล้วมีระทวย "ดาขา" นี่คือคำขึ้นต้นจดหมาย ใช้บ่อยอยู่ในหลายฉบับ คืออ่านแล้วได้ยินเสียงอ้อนมาเลยอ่ะ ดาขามานี่ก็ขานตอบในใจ 'ขา ว่าไงคะ' แบบนี้เลย เป็นเอามากเนอะ 555 หรืออย่าง "เมื่ออยู่กับจดหมายก็เหมือนอยู่กับดา" นี่ก็ปากหวานน่าดู ทีนี้มาดูฝั่งพนิดากันบ้างละกัน ดูเอาเถิดว่าสูสีไหม
"คนชั่วช้าที่ดารัก"
"คนชั่วของคนอื่น แต่คนดีของดา"
อ่านแล้วสะดุ้งนิด ๆ ไหม ไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกหวานดี หรือเจ็บดี เหมือนด่ามากกว่าป่ะ 55 เข้าใจว่าเธอต้องการเน้นย้ำกับยาขอบ ว่าต่อให้ท่านจะเลวร้ายในสายตาคนอื่น แต่สำหรับเธอนั้นเขาดีพอ "ดาจะเฝ้ารอดูวันที่คนทั้งหลายจะเห็นว่า เขานั้นเป็นผู้ผิดที่มองคุณในด้านร้าย และดานั้นมีสายตาไกล และถูกต้องแท้" (พนิดาเขียนตอบยาขอบ, หน้า 51)
การแลกหมัดกันในเนื้อหาจดหมายก็ไม่ธรรมดา ฟินมาก 1 ในถ้อยความที่ชอบมากก็อย่างเช่น
ยาขอบ "เมื่อไรหนอฉันจะได้เห็นเด็กคนนั้นขาเป็นเหน็บไปทั้งสองข้าง เพราะไม่กล้าพลิก ด้วยความเอาใจไม่อยากให้ฉันตื่น ฉันจะหาความสบายด้วยการสมมุติเอาด้วยความฝันว่า หมอนที่ใช้คือตักของเด็กคนหนึ่ง" (หน้า 77)
พนิดา "ดาอยากจะฝันต่อบ้าง ถึงวันที่แขนซ้ายของคุณเป็นเหน็บ เพราะไม่อยากดึงออก ด้วยความอยากเอาใจไม่ให้ดาตื่น จากการที่ใช้แขนคุณเป็นหมอน" (หน้า 78)
น็อกลงไป กรรมการนับถึง 8 ค่ะคุณผู้ชม กรี๊ดมาก จิกหมอนขาดไปหลายใบ (=//=)
แต่พอบทจะดุเดือด หรือกระทบกระเทียบแดกดันนะ ยาขอบท่านก็โหดไม่เบา "ถ้าดาแต่งงาน ถึงไม่เชิญฉัน ก็จะส่งของขวัญ จะทำพวงหรีดเล็ก ๆ ให้งามน่าดู ขนาดวงกว้างสัก 1 คืบ แล้วเขียนบัตรติดไปว่า ขอให้ผัวดาตายเร็ว ๆ " (หน้า 284) ดูเอาเถอะ ร้ายไหมเล่า ถ้าตัวไม่สมหวังนี่ก็ไปแช่งว่าที่ผัวเขาว่าให้ตายไว ๆ อ่านแล้วสะดุ้งโหยง อยากรู้จริงว่าพนิดาอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร โกรธไหม น่าเสียดายที่ฉบับนี้ไม่มีจดหมายตอบจากเธอ
พนิดานั้นคอยให้กำลังใจยาขอบอยู่เสมอให้เขามุ่งมั่นกับความตั้งใจที่จะเป็นคนดีดังที่รับปากไว้ และคอยผลักดันให้เขาเขียนงาน แต่ดูเหมือนว่ายาขอบนั้นไม่ค่อยจะส่งงานเขียนเท่าไร หรือไม่ก็ส่งล่าช้า ดูจากผู้ชนะสิบทิศที่เขียนยืดเยื้ออยู่หลายปี (และสุดท้ายก็เขียนไม่จบ) "คุณก็รู้เท่า ๆ กับคนอื่นรู้ ว่างานของคุณนั้นเป็นเสมือนเพชร แต่คุณชอบละเลยให้เพชรนั้นตกอยู่กับดินเสมอ ช่างไม่ขยันหยิบมาวางไว้ในที่เหมาะสมและแปรงขัดถูให้มันมลังเมลืองอยู่เสมอนั้นเลย" (หน้า 73) เราว่าท่านขี้เกียจ หรืออาจไม่มีแรงบันดาลใจนะ ดูเป็นคนที่จะทำอะไรก็ต้องมีคนเห็นความสำคัญ หรือได้รับการผลักดัน อย่างตอนที่ได้รับมอบหมายให้บริหารสำนักพิมพ์หรือไงนี่ท่านก็ทำได้ดี ทำจนกลับมามีกำไรจากที่ขาดทุน แต่บทจะเหลวไหลไม่ทำ ก็ไม่แตะไม่ทำเลย อย่างมีฉบับหนึ่งเขียนบอกพนิดาว่าแกล้งเกเร ไม่ส่งงานให้ เพราะอยากให้ผู้ใหญ่ซื้อปากกาใหม่ให้ เป็นการทดสอบว่าตัวยังเป็นที่ต้องการอยู่หรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่ไม่ส่งงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีกิน ก็ยอมอดยอมไม่มีกิน (ฉบับที่ 63, หน้า 282) เออ คนอะไรเกเรจริง
เพราะดื่มกินเที่ยวเยอะ แล้วยังภรรยาเยอะเงินที่ได้มาก็ใช้จ่ายออกไปหมด งานก็ทำ ๆ หยุด ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้สิน ถ้ายาขอบประหยัดใช้จ่ายก็น่าจะร่ำรวยอยู่หรอก แต่เข้าใจว่าแกไม่เก็บเอง เลี้ยงเพื่อนก็มาก และบ่อยครั้งก็เกเรไม่ส่งงาน "อะไรจึงจะช่วยให้ฉันได้งานได้การ ก็คือฉันต้องเลิกดื่ม ลดเที่ยวเตร่เฮฮาดึกดื่นค่อนคืนลงเสีย ซึ่งเมื่อไม่ดื่มการเที่ยวก็ไม่มี เพียงเท่านี้ฉันก็จะได้งาน เมื่อได้งานก็ได้เงิน เมื่อมีเงินแล้ว เราจะมาทนอับอายเพราะหนี้สินทำไม ดีชั่วฉันรู้ รู้จนกระทั่งอธิบายให้ดาฟังก็ยังได้ แต่ฉันขาดความซึ้งใจในทางปฏิบัติ" (หน้า 238) ถึงตรงนี้ก็ส่ายหน้า ดีชั่วอะไรรู้หมดนะท่าน แต่เลือกที่จะไม่ทำเสียเอง
แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็ให้ค่าให้ความสำคัญกับงานเขียนมาก และหวังจะส่งเสริมพนิดาให้เป็นนักเขียนที่ดีจริง ๆ ดังที่จะเห็นในฉบับที่ 40 - 46 นั้นยาขอบเขียนแจกแจงข้อที่ควรแก้ไขในงานเขียนของพนิดาชิ้นหนึ่ง เป็นจดหมายที่อธิบายการเขียนได้น่าสนใจมาก ไม่ค่อยมีถ้อยคำฝากรักฝากใคร่เหมือนฉบับอื่น ๆ ในฉบับที่ 55 ก็มีคำตำหนิพนิดาค่อนข้างแรงในเรื่องงานเขียนที่เธอเขียนตอบไทยเสรี ซึ่งพนิดาใช้ถ้อยคำที่ยาขอบเห็นว่าไม่เหมาะสม "ถ้าไม่เห็นความผิดของตัวในเรื่องก็ขออย่าได้อธิบายอะไรมาในเรื่องตัวไม่ผิด ฉันทนประจบสอพลอคุณไม่ได้ ในด้านที่ฉันเห็นว่าคุณผิดจัง ๆ ไม่สมควรเช่นนี้ แม้ฉันจะรักคุณใจแทบขาดก็ตามที ถ้าดาไม่เห็นดาผิด และโกรธฉัน ฉันก็จะยอมรับว่าฉันผิด ผิดที่ได้ตั้งดาไว้สูงเกินไป สูงจนคิดว่าดีกว่าผู้หญิงธรรมดา สูงอย่างนางในฝัน" (หน้า 253)
ในฉบับท้าย ๆ ไม่มีจดหมายตอบจากพนิดาลงพิมพ์แล้ว ตั้งแต่ฉบับที่ 37 - 59 แต่จากที่จับความได้จากจดหมายของยาขอบ เราว่าน่าจะมีจดหมายของพนิดาส่งถึงท่านอีก แต่ไม่ได้นำมาลง อาจเพราะพนิดาไม่ได้รับคืน หรือได้มาแต่ไม่ส่งให้เพื่อตีพิมพ์ จากเนื้อความบางช่วงบางตอนเดาได้ว่าผู้ใหญ่ฝั่งพนิดาคงจับได้ถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่เและอาจสั่งให้ยุติความสัมพันธ์ จริง ๆ ตั้งแต่จดหมายฉบับแรก ๆ พนิดาก็มีแจงอยู่ว่าเขียนไม่ใคร่จะสะดวกนัก ที่ทำงานก็น่าจะมีคนสอดรู้สอดเห็นเยอะ เลยกลัวคนอื่นเห็นและรับรู้ นอกจากจดหมายก็มีติดต่อกันทางโทรศัพท์ หรือพบกันที่วัดบ้างตามโอกาส ซึ่งยาขอบเอ่ยถึง "เสื้อสีปูน" อยู่ในจดหมายหลายฉบับ ดูจะเป็นสีที่ท่านโปรดให้พนิดาใส่ และขอให้เธอสวมเวลามาพบกัน
เป็นหนังสือที่อ่านยากมาก เพราะต้องวางใจเป็นกลางให้ได้มากที่สุดอ่ะ พยายามไม่ตัดสินถูกผิด อ่านเอาอรรถรสกับเสพย์วรรณศิลป์ อ่าน ๆ ไปแล้วก็พาลจะเดือดแทนคุณศรีและพนิดา คนอะไร้ เจ้าชู้ เมียก็เยอะยังจะมาจีบเขาอีกแน่ะ ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้นี่ยังไงกันหนอ จับทางไม่ได้สักอย่าง การงานก็ดูครึ่ง ๆ กลาง ๆ ความรักก็ดูเหมือนจะตั้งใจ แต่ก็ดูไม่เข้มแข็งพอ ในช่วงท้าย ๆ เข้าใจว่ารักคงไม่หวานสดชื่นเหมือนแรก ๆ แล้ว อุปสรรคทั้งหลายน่าจะทำให้ท้อและเหนื่อย "มันทำให้นึกถึงการลอยกระทงในสมัยดายังเป็นเด็ก ๆ กระทงที่ลอยไปมีเทียนจุดสว่าง บางทีก็ลอยเข้าหากัน บางทีลมพัดให้ออกห่างกัน ข้างแสงเทียนที่ติดอยู่กับกระทงนั้นเล่า ประเดี๋ยวก็สว่างประเดี๋ยวก็ริบหรี่ราวกับจะดับ" (พนิดาตอบยาขอบ, หน้า 273) ยาขอบท่านก็ช่างตัดพ้อเก่งนัก หึงหวงพนิดาอยู่เนือง ๆ ในช่วงหลังพนิดาขอให้ยาขอบลดความถี่ของจดหมายลงเหลืออาทิตย์ละฉบับ น่าจะเพราะเกรงคุณแม่และผู้ใหญ่ทางบ้าน รวมถึงสายตาของคนรอบข้าง
เอาเป็นว่าอ่านบล็อกเราแล้วก็อย่าเพิ่งมีอคติ ถ้าให้ดีลองหาเล่มนี้มาอ่านดู สำนวนถ้อยคำนั้นดีน่าสนใจจริง ๆ คุ้มนะที่ได้อ่าน สำนวนเด็ด ๆ ฟิน ๆ ยังมีอีกเยอะ
"ฉันขอจบจดหมายนี้เวลานี้
แต่ขอจบความรักคุณในเวลาจบชีวิต"
- ยาขอบ, จดหมายรักยาขอบ, หน้า 37
Comments
Post a Comment