หยดน้ำในกองไฟ - นิ้วกลม ข้อเขียนดี ๆ อ่านแล้วทบทวนตัวเอง

"เมื่อเรามองเห็น 'เสรีภาพ' ของผู้อื่น
เมื่อเราเรียกร้องความ 'เสมอภาค' ให้กับคนที่แตกต่าง
เมื่อนั้นสังคมเราจะมี 'ภราดรภาพ' คือความเป็นพี่น้องกัน
และนั่นคือสังคมประชาธิปไตย"
- นิ้วกลม (หยดน้ำในกองไฟ, สนพ. 101%, น. 157)


"หยดน้ำในกองไฟ"
ผู้เขียน: นิ้วกลม
สนพ. 101%, พิมพ์ครั้งแรก, มีนาคม 2557

          ช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเราพบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่หลายตลบ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงยังไม่ลืม แล้วเราเคยคิดกันไหมว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราโกรธ เราเกลียดกันด้วยเหตุผลอะไร? แล้วคุณเคยเสียเพื่อนเพียงเพราะความคิดเห็นขัดแย้งไม่ตรงกันหรือเปล่า?

          ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไรที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนใกล้ตัวทั้งที่บ้าน และนอกบ้าน ด้วยกลัวว่าจะไปผิดหูผิดฝั่งและเกิดประเด็นให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเสียเปล่า ๆ ในโลก social media ยิ่งต้องระวังในการแสดงความเห็น การแชร์ แม้แต่การกด like ก็ต้องยั้งนิ้ว เพราะกลัวเหลือเกินว่าจะถูกยัดเยียดว่าอยู่กลุ่มนั้น ฝ่ายนี้ สีโน้น พอนานวันเข้าก็ถึงกับต้อง unfollow เพื่อนหัวการเมืองทั้งหลาย และบรรดาสำนักข่าวเฉพาะกลุ่ม เพราะเบื่อและเครียดเหลือเกินกับเนื้อหาที่นับวันจะมีแต่ปลุกระดมยั่วยุ ด่าทอฝ่ายตรงข้ามอย่างหยาบ ๆ คาย ๆ เพราะเพียงแค่เสพข่าวในทีวีเราก็เหนื่อยแล้ว ไหนจะศัพท์การเมือง และเนื้อหาที่ยาก ๆ เกินกว่าเราจะเข้าใจ ที่สำคัญช่วงที่มีการชุมนุม เราก็ทำงานในพื้นที่ที่มีม็อปตลอด พอหลบเข้าโลก social กะเสพความบันเทิงเสียหน่อย ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ แบบนี้จะไม่ให้เบื่อการเมืองได้ยังไงไหว

          สำหรับคนที่ไม่ถนัดเรื่องการเมืองแบบเรา บทความของพี่นิ้วใน "หยดน้ำในกองไฟ" เป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก พี่นิ้วเอาเรื่องยาก ๆ มาอธิบายให้อ่านง่าย ๆ แล้วไม่น่าเบื่อ ไม่ได้อธิบายแบบนักวิชาการที่ฟังแล้วถ้าให้พูดแรงหน่อยคือ คนฟังแดกจุด หลาย ๆ ถ้อยความก็ตรงกระแทกใจ ได้มองย้อนทบทวนตัวเองว่าทีผ่านมาเราทำอะไรแบบที่เราไม่ชอบเวลาเห็นคนอื่นทำไปบ้างหรือเปล่า "แท้ที่จริงเหตุที่เราแสดงออกอย่างรุนแรง เป็นเพราะเรากลัวความแตกต่าง เราไม่คิดว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราเป็นทุกข์ที่เห็นคนที่ไม่เหมือนเรา" (น. 21) เคยหงุดหงิดเวลามีคนค้านความเห็นเราไหม?

          ยอมรับเลยว่าเวลามีคนขัดใจ หรือแย้งความเชื่อ นี่ก็เถียงไม่ยอมเด็ดขาด แล้วก็จะหงุดหงิด เมื่อก่อนก็เคยแสดงความคิดเห็นแรง ๆ แบบไม่ยั้งคิดตามสื่อต่าง ๆ ลืมไปว่าสิ่งที่โพสต์ไปก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เราเบื่อ และพยายามหลบเลี่ยง มีแต่อารมณ์ไม่มีเหตุผล ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องโพสต์ หรือทวีตมันออกไปก็ได้ "เราเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างความรุนแรงหรือเปล่า" นี่เป็นคำถามที่น่าถามตัวเองก่อนกดโพสต์สเตตัส (น. 134) ก่อนจะโพสต์ ก่อนจะแชร์ สิ่งที่ควรคิดก่อนนิ้วจะกดไปนั้น คือเรื่องนี้มันจริงหรือเปล่า มีประโยชน์อะไรไหม หรือเป็นโทษกับใคร ยกตัวอย่างเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ที่เพิ่งผ่านมา เราพบว่าคนรอบตัวต่างโพสต์ขอร้องให้หยุดแชร์ภาพผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะในกรุ๊ป Line เห็นว่าแชร์กันสนั่น แล้วที่น่าตกใจคือ มีคนแย้งคนที่เตือนว่าไม่ควรแชร์ภาพผู้เสียชีวิตว่า "อย่าโลกสวย"

          ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนไทยเรายังขาดความคิดไตร่ตรอง และสามัญสำนึกในการเล่นสื่อ social media อยู่มาก จริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะต้องมานั่งขอร้องกันเลยว่าอย่าแชร์ภาพผู้เสียชีวิต เราทุกคนน่าจะเข้าใจว่ามันไม่เหมาะสม เป็นเรื่องมารยาทและกาละเทศะ เพราะหากเป็นคนรู้จัก เป็นญาติพี่น้องเรา การที่ต้องเห็นภาพเหล่านั้นถูกแชร์ซ้ำไปซ้ำมาในทุกช่องทาง เราคงสะเทือนใจไม่น้อย จริงไหม? การกลั่นกรองยั้งคิดก่อนแชร์เป็นเรื่องสำคัญและควรทำมาก ๆ เพราะทุกวันนี้พวกข่าวลือ ข่าวลวงนั้นเยอะ และแพร่เร็ว อย่างพวกความเชื่อต่าง ๆ ที่แพร่ในกรุ๊ป Line นี่ก็น่ากลัว โดยเฉพาะถ้าใครมีญาติผู้ใหญ่ที่เล่น Line น่าจะเคยประสบปัญหาคล้ายกัน คือพวกท่านมักจะเชื่อข่าวลวงพวกนั้น และพอเราแย้งก็ยากที่ท่านจะเชื่อ ซึ่งเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดการแพร่กระจายของข่าวเท็จพวกนี้ได้ ด้วยการไม่แชร์ต่อ และไม่ควรไปดูถูก หรือว่ากล่าวกลุ่มคนที่เชื่อข่าวลือ หากอยากให้เขาทราบข้อเท็จจริง ก็ควรค้นข้อมูลมาอธิบาย มาแสดงให้เขาเห็น โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มาเทียบกัน ที่เหลือก็เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลล้วน ๆ การงดแสดงความเห็นในเชิงอารมณ์ ด่าทอก็น่าจะช่วยลดอุณหภูมิของความร้อนแรงลงได้ ขอแค่อย่าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรุนแรง

          สื่อมวลชนเองก็มีส่วนอย่างมากในการนำเสนอสารออกไป ถ้อยคำที่ใช้เพื่อดึงดูดใจคนอ่านก็มีส่วนไม่น้อยในการยุยงเพิ่มความรุนแรงของอารมณ์ บางทีก็สงสัยว่ามันจำเป็นไหมที่ต้องทำแบบนั้น? อย่างที่พี่นิ้วบอกคือถ้อยคำเร้าอารมณ์ย่อมดึงดูดความสนใจคนได้มากกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่านั่นเป็นเทคนิคของสื่อ สิ่งที่เราควรทำคือตั้งสติก่อนเสพข่าว สังเกตและตีความให้ดี เพื่อไม่ให้ตัวเราตกเป็นเครื่องมือของสื่อ หรืออารมณ์ตัวเอง พี่นิ้วบอกเราถึงตัวบ่งชี้ของสารเพื่อความขัดแย้งว่ามีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. การใช้ภาษาเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกเกินจริง
2. การใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย
3. การใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อ ทำให้รู้สึกเวทนา (น. 115)
อย่าลืมว่าข้อเท็จจริง ไม่ใช่นิยาย เราไม่ต้องไปอินกับมันมากจนเกินไปนักก็ได้ เพราะมันอาจทำให้เราเกลียดชัง หรือทำอะไรไปด้วยอารมณ์จนเกิดผลเสียในภายหลัง

          "คิดไม่เหมือนกันไม่ได้แปลว่าอีกความคิดหนึ่งต่ำชั้นกว่า" (น. 22) สังคมที่มีความเห็นต่างน่าจะเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าทุกคนคิดเหมือนกันก็น่าจะเป็นสังคมหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาเหมือนในหนัง sci-fi คนเราจะให้คิด ให้ชอบเหมือนกันไปเสียหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่สังคมที่เห็นต่าง แล้วแตกแยกนั้นไม่น่าจะถือเป็นเรื่องปกติ เพราะอะไรเราถึงเห็นต่างกันไม่ได้? พี่นิ้วอธิบายไว้ใน "หยดน้ำในกองไฟ" ได้ดีมาก การแบ่งกลุ่ม แบ่งพรรคแบ่งพวก กีดกันพวกที่เห็นไม่ตรงกันออกไป กล่าวหาว่าไม่รักชาติมันไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมบ้านเราหรือเปล่า? ความรักชาติวัดกันที่ตรงไหน? จริง ๆ แล้วก็แค่ต่างวิธีกันเท่านั้นเองไม่ใช่หรือ? ความสามัคคีเป็นเรื่องดี แต่...หากเป็นเพียงความสามัคคีเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวม มันก็คงไม่เกิดผลดีเต็มที่ อย่าปล่อยให้ความโกรธความเกลียดบังตาจนไปลดค่าความเป็นคนของอีกฝ่ายลง

"การสร้าง 'วัฒนธรรมประชาธิไตย' ให้เกิดขึ้นในสังคม
ต่านิยมยอมรับความคิดเห็นที่ไม่เหมือนเรา ให้เขามีที่อยู่ที่ยืน
กระทั่งว่าปกป้องสิทธิของคนที่แตกต่างจากเรา
แต่การจะมี 'วัฒนธรรมประชาธิปไตย' ในสังคมได้นั้น
เราต้องมี 'วัฒนธรรมประชาธิปไตย' ในหัวใจเราเสียก่อน"
- นิ้วกลม (หยดน้ำในกองไฟ, สนพ. 101%, น. 23)

           "เคารพ และอดกลั้นต่อความแตกต่าง คุณสมบัตินี้มีธรรมชาติเหมือนน้ำ" (น. 23) น้ำจะอยู่ในภาชนะไหน รูปทรงแบบไหนก็ได้ โดยที่มันไม่ได้สูญเสียความเป็นตัวเองไปเลย ยังแถมความเย็นในหัวใจตัวเองและผู้อื่นด้วย หยดน้ำเล็ก ๆ เมื่อรวมกันย่อมมีพลังดีกว่าไฟที่มีแต่จะเผาทำลายตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้ เรา ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน เชื่อในคุณค่าของความหลากหลาย เคารพทุกเสียงเท่าเทียมกัน พูดจากันด้วยเหตุและผล อดทนต่อความแตกต่าง นั่นคือการรู้จักเคารพในความเป็นคนอย่างเท่าเทียม เขามีสิทธิที่คิดและเชื่อในแบบหนึ่ง เราก็มีสิทธิที่จะคิดและเชื่อในอีกแบบ และต่างก็ยกเหตุผลมาถกเถียงกันโดยไม่ใช้อารมณ์ มันก็น่าจะสนุกกว่า เป็นประโยชน์กว่าที่จะมานั่งโกรธเกลียดกันเพียงเพราะแค่เราไม่ได้ชอบเหมือนกัน เมื่อเรายอมรับตรงนี้ได้ มันก็จะเป็นพลังประชาชนแท้จริง พลังที่เหล่าผู้มีอำนาจต้องกลัวเกรง

          พี่นิ้วชี้ให้เห็นอีกจุดที่น่าสนใจว่า คุณธรรมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มันสามารถเปลี่ยนแปรได้ หาก "คนดี" นั้นไม่สามารถถูกกำกับและตรวจสอบ ดังนั้นเราจึงไม่ควรไว้ใจคนดีกับคุณธรรมมากจนเกินไปนัก เราหรือประชาชนควรจะรวมพลังช่วยกันสอดส่อง และตรวจสอบผู้นำทั้งหลาย ให้เขาเกรงไม่กล้าจะทำผิด คดโกง ความคิดอย่าง "ใคร ๆ ก็โกง" "โกงแต่มีผลงานก็โอเค" ฯลฯ แบบนี้ไม่ควรคิด เพราะผู้นำเก่งและดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในสังคมไม่เอาคนโกงอีกต่อไปแล้ว พลังของประชาชนจะเป็นโล่ป้องกันอย่างดีไม่ให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายกระทำผิดในแบบของเขาอยู่ร่ำไป

          ที่ยกมาเขียนในบล็อกนี้เป็นเพียงบางส่วนจาก "หยดน้ำในกองไฟ" เราเพิ่งหยิบเอามาอ่านเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากดองมานานเป็นปี (ซื้อมาตั้งแต่งานหนังสือต้นปี 2557) เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ที่อัดแน่นด้วยคุณภาพและความคิดดี ๆ และคงมีเนื้อหาทันสมัยไปอีกนาน ก็ได้แต่หวังว่าแนวโน้มในบ้านเมืองเราจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ขอให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และอยู่ร่วมกันได้ อย่าให้มีเหตุการณ์รุนแรงแบบที่ผ่านมาอีกเลย แตกต่างแต่ไม่แตกแยกเนาะ

Comments

Popular posts from this blog

[Spoiler Alert] เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) สปอยล์แหลกตามคำขอของน้อง

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) หนังสือดีๆ อีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่าน

ลำนำรักเทพสวรรค์ ภาค หนึ่งคำมั่น สัญญานิรันดร์ (Promise Me a Forever)