บทเพลง แห่ง ความรัก ของ Leo Tolstoy
"โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ จะทำได้ก็ด้วยวิธีเดียวคือต้องยกระดับทัศนคติที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิงโดยสิ้นเชิง รวมทั้งตัวผู้หญิงเองด้วย ซึ่งการยกระดับนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงต้องหันมาใส่ใจและมองความบริสุทธิ์ของตัวเองในฐานะเงื่อนไขแห่งความชื่นชมยินดีที่มนุษย์พึงปรารถนา และอย่าเหมือนที่ผู้หญิงทำอยู่ในปัจจุบัน มองว่ามันเป็นเรื่องน่าอายหรือเป็นเรื่องเชย"
- Leo Tolstoy, บทเพลงแห่งความรัก (Kreutzer Sonata),
สนพ. สมิต, น. 96
ภาพจาก readery.co |
"บทเพลงแห่งความรัก (Kreutzer Sonata)"
ผู้เขียน: Leo Tolstoy
ผู้แปล: ศักดิ์ บวร
สนพ. สมิต, พิมพ์ครั้งที่ 2, มกราคม 2558
ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก เนื่องจากช่วงนี้ติดพันกับการอ่าน เจินหวน อยู่ ตอนนี้จบเล่ม 9 ละ เดี๋ยวอ่านจบครบชุดแล้วค่อยมาเขียนบล็อกทีเดียว ส่วน บทเพลงแห่งความรัก (Kreutzer Sonata) เล่มนี้เพิ่งอ่านจบ พกไว้อ่านตอนเดินทางมาทำงาน ขนาดเล่มไม่หนา ตัวหนังสือใหญ่ดี เหมาะแก่การพกพาและถืออ่านบนรถไฟฟ้ายิ่งนัก
เท่าที่อ่านจากคำนำสนพ. ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) มักจะนำเค้าโครงเรื่องจากชีวิตส่วนตัวจริงๆ ของเขามาใช้ในงานเขียน ใน บทเพลงแห่งความรัก เล่มนี้ก็เช่นกัน เขานำเรื่องราวส่วนนึงของชีวิตสมรสมาเป็นแนวทางในการเขียน เล่าเรื่องราวของชายผู้ทุกข์ระทมกับชีวิตสมรสที่เต็มไปด้วยความอึดอัด การทะเลาะเบาะแว้ง และความหึงหวงของฝ่ายชาย จนสุดท้ายนำไปสู่โศกนาฏกรรม
อ่านแล้วก็อึ้ง ๆ ตะลึงเบา ๆ กับแนวคิด และประเพณีของคนในยุคสมัยของปู่แก การแต่งงานเหมือนการออกร้านแสดงสินค้าอย่างไรไม่รู้ การออกงานสังคมคือการเปิดประมูลสินค้า ซึ่งก็คือลูกสาวของแต่ละบ้าน โดยมีบรรดาแม่ ๆ เป็นผู้พยายามนำเสนอลูกสาวของตัวให้ชายหนุ่มที่เข้าตา (และคงมุ่งเน้นที่ฐานะเป็นหลัก มากกว่าหน้าตา หรือนิสัยอ่ะนะ) ส่วนผู้ชายมชีวิตที่อิสระกว่าผู้หญิง และมีมุมเห็นแก่ตัวในเรื่องทางเพศ อย่างการเสียความบริสุทธิ์ หรือถ้าในภาษาไทยใช้คำว่า ขึนครู นั่นแหละ ตัวละครในเรื่องค่อนข้างละอายแก่ใจในเรื่องนี้ แถมนำบันทึกไปให้คู่หมั้นอ่านอีกแน่ะ เพียงเพราะพี่แกไม่อยากปิดบัง จะแต่งงานกันแล้วก็เปิดเผยเลยแล้วกันว่าตัวเคยเที่ยวผู้หญิงอะไรแบบนี้มา ผลคือคู่หมั้นนางช็อกและรับไม่ได้ พี่แกก็เลยอึ้งไปเลย แบบคนเขาอุตส่าห์สารภาพความจริง แล้วหล่อนมารังเกียจเนี่ยนะ
ในยุคสมัยที่ผู้ใหญ่นิยมจับลูกหลานคลุมถุงชน และการหย่าร้างเป็นเรื่องยุ่งยาก คู่ที่แต่งงานกันแล้วถ้าถูกใจกัน เข้ากันได้ก็ดีไป แต่ถ้าไปเจอคนไม่ดีเข้า ก็ต้องทนทุกข์กันไปอย่างนั้น คิดแล้วก็ทรมานแท้ แต่จำนวนการเลิกราหย่าร้างก็น้อยไปด้วย ถ้าไม่นับกรณีโชคร้ายเจอชีวิตสมรสที่ต้องทุกข์ทน การจับคู่แบบเก่ามันก็มีข้อดีของมันอยู่บ้าง ตรงที่ดูเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวจะมีความเกรงใจในผู้หลักผู้ใหญ่ และฝ่ายหญิงในยุคสมัยนั้นไม่ว่าจะคนไทย หรือยุโรปก็ถูกอบรมให้หัวอ่อน เชื่อฟังสามี ต้องพึ่งพาสามี ก็เลยไม่ค่อยมีปากมีเสียง (แต่เชื่อว่าบางคนก็น่าจะมีปากเสียงอยู่เหนือสามีได้อยู่นะ น่าจะมีทุกยุคทุกสมัย) เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้หญิงเริ่มได้รับสิทธิทางการศึกษา และพึ่งตัวเองได้มากขึ้น ความอดทนก็ดูจะน้อยลง หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องทนอีกต่อไป เมื่อทนอยู่ร่วมกันไม่ได้ การหย่าร้างก็เป็นทางออกอันดับต้น ๆ
แต่ช่วงปีสองปีมานี้ข่าวที่จะเห็นบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือข่าวหึงโหดจนลงมือทำร้าย หรือถึงขั้นฆ่ากันตายก็มี เหตุผลของการลงมือส่วนใหญ่ก็เพราะอีกฝ่ายบอกเลิก หรือพบว่าอีกฝ่ายมีคนอื่น ไม่ก็หนีปัญหาอย่างหนี้สินเลยตัดสินใจฆ่ายกครัวพร้อมยิงตัวตายตาม อะไรทำให้คนเราขาดสติได้ขนาดนั้น? ความรักเนี่ยถ้าไม่มีสติกำกับมันกลายเป็นเรื่องน่ากลัวเลยเนาะ รักมาก หลงมาก ก็มีแววจะทุกข์หนักมาก หน้ามืดตามัวขาดสติก็ลงมือทำร้ายกันได้ง่าย ๆ มาเสียใจเอาทีหลังก็สายไปแล้ว
พล่ามเฉไฉไปเรื่อยเฉื่อยละ กลับมาที่คะแนนของ บทเพลงแห่งความรัก ดีกว่า เรื่องนี้เป็นผลงานของปู่ตอลสตอยเรื่องแรกที่ได้อ่าน ก่อนหน้านี้เคยแต่ดูหนังเรื่อง Anna Karenina ที่สร้างจากผลงานนิยายขนาดยาว (เล่มหนามากกกก) ของปู่แกอีกเรื่อง ตัวหนังเราชอบนะ พระเอกหล่อมากกก (จริง ๆ จะเรียกพระเอกก็ตะหงิด ๆ ใจนิดหน่อย ก็พี่แกดันเป็นชายชู้เนี่ยสิ) อยากจะอ่านฉบับนิยายอยู่ แต่เห็นความหนาแล้วท้อ ยิ่งพอนึกถึงไตล์ของนิยายนักเขียนยุคเก่า ๆ อย่างพวกวรรณกรรมคลาสิกแล้วแบบมีหลับแน่ ๆ ฉัน >w<"
โปสเตอร์หนัง Anna Karenina ภาพจาก imdb.com |
ส่วนนี่ Aaron Taylor-Johnson รับบท Vronsky ชายชู้ของ Anna Karenina ในเรื่อง หล่อโฮกกกก ภาพจาก paperbackfool.wordpress.com #AnnaKarenina
โดยรวมแล้วชอบ แต่ไม่ได้ประทับใจอะไรมาก คือชีวิตของอิตาลุงที่เล่าเรื่องนี่มันยาวมาก (หนังสือไม่หนานะ เล่มบาง ๆ แต่เกือบทั้งเล่มนั่นคือเรื่องราวของอิตาลุงคนนึงที่มานั่งเล่าให้ชายหนุ่มแปลกหน้าฟังบนรถไฟ) จนนึกภาพว่าถ้าเราเป็นคนนั่งฟังนี่คงหลับน้ำลายย้อยไปละ อะไรจะพล่ามเยอะขนาดนี้คะลุง เมื่อไรจะเข้าเรื่อง และด้วยความที่พกอ่านตอนเดินทางตอนเช้า เพราะงั้นสติสตัง ณ ขณะนั้นคือเต็มไปด้วยความง่วงงุนพอประมาณ สมาธิก็ไม่ค่อยจะมี ก็เลยหลุด ๆ จากเรื่องราวอยู่บ้าง เลยให้คะแนนอยู่ในระดับปานกลาง ความน่าอ่านตอนแรกก็อยู่ที่ชื่อของปู่ตอลสตอยเนี่ยแหละ อารมณ์ชื่อนี้เป็นประกัน พออ่านแล้วสิ่งที่ทำให้สนใจอ่านต่อก็คือความสงสัยว่าเรื่องราวมันจะไปจบลงที่ตรงไหน ตาลุงจะทำยังไงต่อกับเมียและชายนักดนตรีที่เขาสงสัยว่าเป็นชู้กับเมียตัวเอง เรื่องราวไม่ได้ตื่นเต้นหวือหวาลุ้นระทึก หรือดราม่าโศกสลดอ่านแล้วเครียด (หรือจะเป็นเพราะไม่ค่อยอินหรือเปล่าก็ไม่รู้)
|
Comments
Post a Comment