ทางรถไฟสายดาวตก - ทรงกลด บางยี่ขัน
"ผมอยากสร้างรถไฟที่คนสามรุ่นจะได้คุย
และมีความทรงจำดีๆ ร่วมกัน
ได้สร้างช่วงเวลาที่ครอบครัวได้นั่งพร้อมหน้ากันอย่างมีความสุข"
- เอจิ มิโตะโอะกะ, ทางรถไฟสายดาวตก (ทรงกลด บางยี่ขัน)
"ทางรถไฟสายดาวตก"
ผู้เขียน: ทรงกลด บางยี่ขัน (เรื่องและภาพ)
สนพ. อะบุ๊ก, พิมพ์ครั้งแรก, มีนาคม 2557
เคยโดยสารรถไฟไปเที่ยวกันไหมคะ? เราเคยนั่งตอนเด็กๆ แต่จำไม่ได้ละว่าตอนนั้นนั่งไปไหน เมื่อหลายปีก่อนตอนไปเชียงใหม่ครั้งแรก ก็มีโอกาสใช้บริการรถไฟไทยเดินทางจากกทม. ไปเชียงใหม่ แต่ครั้งนั้นไปถึงที่หมายแบบไม่ราบรื่นเท่าไร เพราะนอกจากจะเลตจากกำหนดเวลาไปเยอะมากกกกแล้ว รถไฟตู้นอนตั๋วชั้น 1 ขบวนที่นั่งมาดันเสีย! สุดท้ายต้องเปลี่ยนขบวนไปนั่งรถไฟชั้นสามแถวๆ ลำปาง จากเดิมที่ควรถึงเชียงใหม่ 9 โมงเช้า กลายเป็นไปถึงเอาบ่ายสอง อยากจะร้องฮานาก้าดังๆ ให้ได้ยินไปถึงดวงจันทร์เลยทีเดียว
เกริ่นถึงเรื่องรถไฟมาขนาดนี้ เพราะรู้สึกอิจฉาคนญี่ปุ่นเหลือเกินที่บ้านเมืองเขามีรถไฟที่ผู้ออกแบบใส่ใจในทุกรายละเอียด และไม่ได้คำนึงถึงแต่ความสุขของผู้โดยสาร แต่ยังคิดเผื่อรวมไปถึงผู้คนในชุมชนตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน อ. เอจิ มิโตะโอะกะ คือผู้ออกแบบรถไฟของบริษัท JR Kyushu (การรถไฟญี่ปุ่นส่วนภูมิภาคคิวชู) หลายขบวน และทำให้ JR Kyushu ได้รับการยกย่องว่ามีรถไฟสวยเยอะที่สุดในญี่ปุ่นตามที่คุณทรงกลดเขียนเล่าไว้ใน "ทางรถไฟสายดาวตก" เล่มนี้ (ถ้าเมืองไทยเราพัฒนารถไฟเพื่อการท่องเที่ยวให้อลังได้บ้างก็คงจะดี)
คุณทรงกลดและคณะพาเราเดินทางรอบเกาะคิวชูโดยรถไฟหลายขบวนซึ่งออกแบบโดยอ. เอจิ มิโตะโอะกะ มีทั้งรถไฟน่ารักๆ ที่ตั้งใจออกแบบเพื่อให้เด็กได้เล่นสนุก รถไฟที่พิถีพิถันในการออกแบบจนดูสวยงามหรูหรา รถไฟที่ตั้งใจให้วิ่งช้าๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้ชมวิวทิวทัศน์ ฯลฯ รถไฟแต่ละขบวนสวยและมีเอกลักษณ์น่าประทับใจมากๆ นอกจากรถไฟที่ออกแบบมาได้น่าทึ่งแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้รู้สึกทึ่งในตัวอ. เอจิ มิโตะโอะกะ ก็คือการส่งเสริมเกษตรกรรม หรืออาชีพในท้องถิ่น อย่างการให้ชาวบ้านนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายในจุดจอดพักของรถไฟ หรือการทำข้าวกล่องขายบนรถไฟโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น นอกจากจะทำให้การนั่งรถไฟกลับมาเป็นจุดเด่นจุดขายในการท่องเที่ยวและการเดินทางหลักของเมือง ยังทำให้ชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มอีกด้วย เจ๋งใช่ไหมล่ะ ในเล่มมีเรื่องราวดีๆ น่าทึ่งอีกเยอะ ลองหามาอ่านกันดูนะ
อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจมาก ไปญี่ปุ่นเมื่อไรตั้งใจว่าจะไปตามนั่งรถไฟสัก 2 - 3 ขบวน หรือเอาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่เวลาและกำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวย ตามรอยคุณทรงกลดไปและนำมาเล่าให้ฟังใน "ทางรถไฟสายดาวตก" นี้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลการเดินทางด้วยรถไฟ อ่านแล้วอาจจะเกิดแรงใจไฟฝันไปตะลุยนั่งรถไฟในญี่ปุ่นสักทริป หรือถ้าคุณคิดว่าการเดินทางโดยรถไฟไม่น่าสนใจ หนังสือเล่มนี้อาจเปลี่ยนความคิดคุณ
Comments
Post a Comment