วิชา ภูผา ชีวิต by นิ้วกลม - ดูธรรมชาติ แล้วย้อนดูตัว

"หากอยากรู้ว่าเราเป็นใครให้หยุดอยู่กับที่
แต่ถ้าอยากรู้ว่าเราเป็นอะไรได้อีกให้ออกเดินทาง"
- นิ้วกลม, วิชา ภูผา ชีวิต, น. 265



"วิชา ภูผา ชีวิต"
ผู้เขียน: นิ้วกลม
สนพ. Koob, พิมพ์ครั้งแรก, มีนาคม 2557

          "ปรัชญาและข้อคิดสำหรับผู้ต้องการพิชิตยอดเขาแห่งความสำเร็จ" คำโปรยบนปกชัดเจนขนาดนี้แต่เราดันมองข้ามไม่ได้อ่าน ตอนแรกนึกว่าเป็นบันทึกการเดินทางเหมือน โตเกียวไม่มีขา หรือ เนปาลประมาณสะดือ เสียอีก

          เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่งานหนังสือต้นปีที่แล้ว เอามาจัดอยู่ในลิสต์ที่ต้องอ่านในปี 2558 นี้ เล่มนี้มาทางปรัชญาชัดเจนเต็มตัวดังคำโปรยปกจริง ๆ แฮะ แต่เนื้อหาอ่านง่าย ย่อยง่ายสไตล์พี่นิ้วนะ ไม่ต้องตีความลึกซึ้งอะไรมากมาย เล่าถึงสิ่งที่พี่เขาค้นพบระหว่างเดินป่าขึ้นยอดเขาโมโกจู อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปรียบเทียบการเดินขึ้นเขา กับการเดินสู่เป้าหมายในชีวิต

          การเดินป่า ขึ้นเขาต้องใช้กำลังกาย และกำลังใจอย่างมาก คนที่ตัดสินใจเลือกการเดินทางแบบนี้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจมาในระดับหนึ่ง ต้องรู้จักลดสิ่งที่ไม่จำเป็นซึ่งจะถ่วงการเดินทาง และเอาชนะความกลัว ความท้อภายในใจของตัวเอง และต้องรู้จักอดทนต่อความยากลำบาก และในที่ซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีเตียงนอนนุ่ม ๆ ไม่มีแม้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ คือที่ที่เหมาะสำหรับการตรวจสอบตนเอง

          พี่นิ้วตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย อย่างเช่น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ว่ามันให้ความสะดวกกับเราจริงหรือ? เพราะอย่างน้อย ๆ กว่าเราจะได้มาซึ่งสิ่งนำพาความสะดวกเหล่านี้ เราก็ต้องลงทุนลงแรงทำงานเพื่อให้ได้เงินมาซื้อหากันไม่ใช่หรือ? หรืออย่างการที่เทคโนลีพัฒนาจนเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ แม้ไม่ได้อยู่ในสำนักงาน งานก็ตามเราไปได้ทุกที่ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างอีเมล หรือแชต การอัปเดตสถานะในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แบบนี้มันรุกล้ำเวลาในชีวิตเราเกินไปหรือเปล่า? "หากแยกแยะความสะดวก ความสบาย และความสงบ ออกจากกันได้ เราอาจพบว่า คำถามที่น่าส่องกระจกถามตัวเองก็คือ ชีวิตต้องการสิ่งใดในสามสิ่งนี้ และที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งใด" (น. 58) ในชีวิตซึ่งล้อมรอบไปด้วยความวุ่นวาย และเร่งรีบต่อภาระหน้าที่ต่าง ๆ บางทีหาโอกาสออกไปเจอความสงบบ้างก็น่าจะดีไม่น้อย

          แต่จุดเริ่มต้นของการออกเดินทางอาจไม่ง่าย เพราะเราอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ที่สุดก็คือความกลัวในใจของเราเอง การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ก็เช่นกัน เราอาจกังวลในหลาย ๆ สิ่ง กลัวความไม่มั่นคง กลัวทำไม่ได้ ลังเลไม่แน่ใจ หรือติดอยู่กับ comfort zone สำหรับนักเดินทางที่เดินทางบ่อย ๆ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่กลัวอะไรเลย เพียงแต่เขาก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้น แล้วนำประสบการณ์ไปใช้กับความกลัวถัดไป เหล่าคนที่ประสบความสำเร็จก็ก้าวข้ามความกลัวพวกนี้ แล้วลงมือทำเพื่อให้ประสบผลตามเป้าหมาย แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันยากจนทำไม่ได้ "ยอดที่ยากที่สุดคือยอดที่เราคิดว่ามันยาก" (น. 178)

          การเอาชนะที่ยากที่สุด คือการเอาชนะใจตัวเอง การแข่งขันที่ยากที่สุด ก็คือการแข่งกับตัวเอง ระหว่างทางที่เรามุ่งหน้าไปยังเป้าหมาย หรือการเดินขึ้นไปให้ถึงยอดเขา ในช่วงแรกที่ยังมีแรงพี่นิ้วบอกว่าเราควรทำระยะทางให้มากในจังหวะที่ยังมีแรง สดชื่นแจ่มใส ตื่นเต้นกับการเดินทาง เพราะถ้าไปเร่งเอาภายหลังอาจไม่มีแรงพอจะเร่งแล้ว จะทำให้ท้อแล้วถอยเอาเปล่า ๆ นั่นก็คือในวัยหนุ่มสาว หรือในจังหวะที่ยังมีกำลัง มีทุน มีโอกาสที่จะทำได้ ก็ควรจะรีบทำเสียตั้งแต่ตอนนั้น แต่ระหว่างที่ตั้งใจทำระยะทางนั้นก็ต้องไม่ละเลยที่จะชื่นชมธรรมชาติสองข้างทาง อย่ามัวแต่ก้มหน้าเดินจนมองไม่เห็นความสวยงาม หรือมองแต่จุดหมายใหญ่ ๆ ปลายทางจนลืมความภูมิใจในก้าวย่างเล็ก ๆ ในแต่ละขั้นตอนที่ลงมือทำไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปยังจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นบางครั้งเราก็ต้องมองก้าวที่เดินสลับกับเป้าหมายถึงจะช่วยให้มีกำลังใจในการเดินต่อ "วันที่เหนื่อยล้าจงมองใกล้ แล้วภูมิใจกับทุกก้าว" (น. 173) และสิ่งสำคัญอีกสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ เพื่อนร่วมทาง และมิตรภาพระหว่างกัน การเดินคนเดียวย่อมยากลำบากกว่ามีเพื่อนร่วมทางที่เข้ากันได้ดี คอยหยุดรอเวลาตามกันไม่ทัน ให้กำลังใจในยามที่เหนื่อยและท้อ เรียนรู้เก็บประสบการณ์จากกัน เพื่อนบางคนอาจช่วยเหลือในยามยาก บางคนอาจช่วยดึงความสามารถจริง ๆ ของเราออกมา "บางคนไม่รู้ศักยภาพสูงสุดของตนเอง จนกว่าจะได้ร่วมทางกับคนที่มีศักยภาพสูงกว่า" (น. 152) นอกจากนี้เราว่าความยากเข็ญในการเดินทางจะเป็นตัวคัดกรองเพื่อนที่ดี เพื่อนแท้ให้เราด้วย เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า อยากรู้น้ำใสใจคอของใครจริง ๆ ก็ให้ดูจากการเดินทางร่วมกัน

          "มิตรภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเดินทาง กระทั่งอาจสำคัญกว่ายอดเขาที่เฝ้าฝัน หากต้องเลือกระหว่างยอดเขากับมิตรสหายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นักเดินทางผู้ไม่ทะเยอทะยานจนดวงตามืดบอดย่อมเลือกเพื่อน" (น. 160) อีกเหตุผลที่เราควรหยุดมองก้าวที่เดิน สลับการมองเป้าหมายก็เพื่อไม่ให้ลืมมิตรภาพ และเพื่อนร่วมทางที่ออกเดินกับเรามาตั้งแต่ต้น เพื่อนอาจเดินไม่ไหว หมดแรงไปต่อ เราก็ควรยอมหยุดพักเพื่อให้เพื่อนมีแรง มิใช่มุ่งมั่นจะไปสู่เป้าหมายโดยไม่สนใจว่าจะต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะสุดท้ายเมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาได้สำเร็จ หากแต่เหลือตัวคนเดียว ไม่มีเพื่อนคอยยินดีกับความสำเร็จและร่วมหัวเราะไปด้วยกัน ชัยชนะนั้นจะมีความหมายหรือ?

          หนทางยิ่งใกล้ยอดเขายิ่งสูงชัน ตัวเรายิ่งน้อมลง นี้เป็นสัญญาณบอกว่ายิ่งขึ้นไปสูง เรายิ่งต้องนอบน้อมให้มาก "อย่าลืมว่ายิ่งสูงยิ่งตกเจ็บและยิ่งเป็นแผลฟกช้ำ จงน้อมตัวลงต่ำเมื่อขึ้นที่สูง" (น. 217) ธรรมชาติบอกเราเสมอว่ามนุษย์เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน ความสูงใหญ่ของภูผา ภัยธรรมชาติ ฯลฯ คือสิ่งย้ำชัดในสัจธรรมนี้

          เมื่อขึ้นไปถึงยอดแล้วก็อย่าลืมที่จะค้อมตัวต่ำ "เพื่อโค้งคารวะต่อผู้มีพระคุณที่สนับสนุนให้เราได้มีวันนี้" (น. 230) นั่นคืออย่าลืมตัว ได้ดี ประสบความสำเร็จก็อย่าลืมคนร่วมทาง คนที่ช่วยเรามาตั้งแต่เริ่ม เพราะเราไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่มีแรงหนุนจากพวกเขาเหล่านั้น ขึ้นสูงแล้วเราไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว อย่าตัดใครทิ้งไปอย่างไม่รู้คุณคน เพราะ "ต่อให้พิชิตยอดเขาสูงสำเร็จก็ใช่ว่าตัวเองจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่" (น. 219) ให้ลองคิดให้ดีว่าอยากขึ้นสู่ยอดเขาแล้วยืนเพียงลำพัง หรือมีคนเคียงข้างให้แลกเปลี่ยนรอยยิ้มและเรื่องราว

          อ่านแล้วได้แง่คิดและกำลังใจดี ใครที่กำลังลังเลใจ หรือกลัวที่จะก้าวออกมาจากอะไรเดิม ๆ อยากเปลี่ยนงานใหม่ ทำตามความฝัน หรืออยากออกไปเดินป่า ดำน้ำดูปลาการ์ตูน ฯลฯ อ่านแล้วอาจได้พลังใจไปเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นก็ได้

          แต่ก็แอบคิดถึงงานเขียนสไตล์บันทึกการเดินทางสนุก ๆ อย่างโตเกียวไม่มีขานะ พี่อีกคนที่ชอบอ่านงานพี่นิ้วเหมือนกันก็บ่นถึง เราก็เห็นด้วย หลัง ๆ พี่นิ้วเขียนแนวปรัชญา แนวโรแมนติกซะส่วนมาก อยากให้เขียนแนวท่องเที่ยวอีกจัง

"ความรักทีเ่กิดขึ้นแล้วไม่มีวันหายไปไหน
มันยังคงปรากฏอยู่บนเส้นทางที่คนสองคนร่วมทางกันมา
ความรู้สึกในใจของคุณอาจเปลี่ยนแปลงไป
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
รักที่เกิดขึ้นยังคงสวยงามในสถานที่และกาลเวลานั้น
แม้ไม่มีใครเก็บมันไว้ มันก็ไม่ได้หายไปไหน"
- นิ้วกลม, วิชา ภูผา ชีวิต, น. 198

Comments

Popular posts from this blog

[Spoiler Alert] เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) สปอยล์แหลกตามคำขอของน้อง

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) หนังสือดีๆ อีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่าน

ลำนำรักเทพสวรรค์ ภาค หนึ่งคำมั่น สัญญานิรันดร์ (Promise Me a Forever)