คนแคระ ของ วิภาส ศรีทอง

เรื่อง: คนแคระ
ผู้แต่ง: วิภาส ศรีทอง
สนพ. สมมติ
"ดังนั้น การโดนจับเป็นคนแรกแม้จะน่าผิดหวัง
แต่ก็ยังไม่เลวร้ายเท่าการถูกละทิ้งรั้งท้ายโดนตัดออกจากเกม"
- หน้า 333
โดยส่วนตัวรู้สึกอิจฉาคนที่อ่านหนังสือแล้วสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ เข้าใจในสิ่งที่หนังสือ หรือผู้แต่งต้องการสื่อพอสมควรทีเดียว ปกติฉันอ่านแค่สรรหาความบันเทิงจากถ้อยความ กลิ่น และสัมผัสของหน้ากระดาษเพียงเท่านั้น

คนแคระ นวนิยายรางวัลซีไรต์ปี 55 เล่มนี้ กว่าจะอ่านจบได้ก็ใช้เวลาและความอุตสาหะพอสมควร เนื้อเรื่องเครียดทีเดียว ประมาณ 95% เป็นบทบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีถ้อยคำใดเฉลยชี้ชัด บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเล่นคำเยอะซะจนอ่านแล้วรู้สึกเหนื่อย ที่อ่านจนจบเพียงเพราะลุ้นหาคำตอบของเรื่องราวต่างๆ และนั่นอาจเป็นเสน่ห์ของนิยายเล่มนี้...ก็เป็นได้

จากข้อความประกาศรางวัลท้ายเล่ม และจากเว็บไซต์ที่อ่านมา คนแคระ "เป็นนิยายที่มีน้ำเสียงวิเคราะห์พิจารณาจิตใต้สำนึกมนุษย์ เสนอปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์" โดยมีตัวละครหลักคือ เกริก ชายหนุ่มฐานะดี ฉลาด หากแต่ไม่ยอมเรียนให้จบ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่รู้หรือไม่ยอมคิดหาว่าสิ่งใดที่ตนอยากทำ อยากเป็น กับเพื่อนอีกสองคน พิชิตผู้เพิ่งสูญเสียภรรยา และกำลังเสียสูญในชีวิตไปทีละนิด และนุช หญิงสาวคนเดียวในกลุ่ม ศิลปินผู้ที่ยังค้นหาแนวทางแน่ชัดในผลงานของตัวเองไม่เจอ เพื่อนทั้งสามคนแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตนเอง แต่วันหนึ่งพวกเขาก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพราะเกริก...

และสื่อกลางที่ทำให้เขาทั้งสามมารวมตัวกัน ตัวละครผู้ช้ำชอก เหยื่อ ผู้มีชะตากรรมน่าสงสารน่าเห็นใจของเรื่อง ซึ่งก็คือ "คนแคระ" ที่จู่ๆ ชีวิตก็ผลิกผลันตกเป็นนักโทษใน "กรง" ของเกริก เพียงเพราะรูปร่างที่ผิดแผกไปจากคนทั่วไปของเขาที่ดั๊นนนไปสะดุดตาสะดุดใจของพ่อยอดชายนายเกริกในตอนที่เกริกมีความคิดบ้าๆ "จับชายสักคนนึงมาขัง"  (อ่านแล้วก็แบบ คนดีๆ ที่ไหนวะอยู่ดีๆ ก็อยากจับใครสักคนมาขัง แล้วมันก็ทำจริงๆ!)

เกริก แม้ลึกๆ จะรู้ว่าทำไม่ถูก และสงสารชายคนแคระอยู่บ้าง แต่เขาก็เลือกที่จะปัดสำนึกผิดชอบชั่วดีทิ้ง เพราะภาพคนแคระในกรงตรงหน้าเหมือนมาเติมเต็มอะไรบางอย่างในความรู้สึกของเขา

พิชิต พยายามดำเนินชีวิตต่อไปโดยปราศจากภรรยาอันเป็นที่รัก บางทีการไม่ปล่อยให้ตนเองได้เศร้าโศก การไม่มองความเจ็บปวดในใจ เริ่มส่งผลร้ายต่อเขามากขึ้น อาการนอนไม่หลับ และเริ่มได้ยินเสียงหลอนกำลังทำลายเขาทีละน้อย แต่เมื่อเกริกจับคนแคระมา การได้เห็นคนแคระในกรง ภาพนั้นส่งผลบางอย่างต่อเขา เขากลับมาหลับได้อีกครั้ง และตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ชายคาเดียวกันกับเกริก ที่คุมขังคนแคระ

นุช ศิลปินที่เริ่มหลงทางในแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง เมื่อพิชิตเอ่ยปากชวน เธอตัดสินใจแวะมาดูคนแคระ และภาพคนแคระในกรงก็ส่งผลบางอย่างต่อเธอ และผลงานของเธอเช่นกัน แม้จะรู้ว่าเกริกทำไม่ถูก แต่นุชก็เพิกเฉย ไม่พูดทัดทาน หรือพยายามช่วยเหลือคนแคระ เธอเลือกที่จะเป็นผู้เฝ้ามอง และแอบกอบโกยประโยชน์จากแรงบันดาลใจจากภาพคนแคระในห้องขังไปใส่ในผลงานใหม่อย่างเงียบๆ

คนแคระ ด้วยรูปลักษณ์ที่ผิดจากคนทั่วไป เขามักจะทำตัวร่าเริง ตลกขบขัน เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบ เพื่อให้มีที่ยืนในสังคม และที่เลือกงานนักแสดง เพราะนั่นทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับ (หรือเปล่า?)

อิสระภาพที่เคยมีถูกริดรอนไปโดยผู้ชายที่โยนสำนึกผิดบาปมองข้ามอาชญากรรมของตัวเอง ถือตนถือวิสาสะเจ้ากี้เจ้าการควบคุมชะตาชีวิตของคนๆ นึงอย่างหน้าตาเฉย แม้จะพยายามทำดีด้วย ดูแลอย่างดีแค่ไหน แต่ก็ไม่ช่วยให้คนแคระรู้สึกดีขึ้นกับชีวิตหลังซี่ลูกกรง (ใครที่ไหนมันจะไปแฮปปี้ได้ล่ะ) อิสระภาพคือสิ่งเดียวที่เขาร้องขอ แต่เกริกกลับเพียงตอบว่า อยากให้เขาเป็นแขกอยู่ที่นี่ โลกภายนอกเป็นโลกที่ไม่เหมาะกับคนแคระ ออกไปจะโดนคนตัวโตกว่าเอาเปรียบรังแกเอาได้

ทำไมเกริกถึงทำแบบนั้น ทำไมพิชิต และนุชถึงเพิกเฉย แล้วสมรู้ร่วมคิดไปแบบนั้น อะไรทำให้คนเราถือดีไปตัดสินคนอื่น ไปจำกัดอิสระภาพของอื่นได้แบบนั้น? ผู้ที่แตกต่าง หรืออ่อนแอ มักตกเป็นเหยื่อ และถูกกันออกจากสังคมอย่างโหดร้ายไปหน่อยนะ...ว่าไหม?  ใครบ้างล่ะที่อยากถูกทิ้งรั้งท้าย ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ถูกกันออกจากวง

"...คงเนื่องมาจากข้อด้อยในรูปลักษณ์ของเขา
ซึ่งต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อในหัวใจของใครต่อใครอยู่ไม่น้อย เพื่อทำให้ตัวเองปลอดภัย"
- หน้า 195

Comments

Popular posts from this blog

[Spoiler Alert] เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) สปอยล์แหลกตามคำขอของน้อง

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) หนังสือดีๆ อีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่าน

ลำนำรักเทพสวรรค์ ภาค หนึ่งคำมั่น สัญญานิรันดร์ (Promise Me a Forever)