อารมณ์เศร้า เลม่อนเค้ก (The Particular Sadness of Lemon Cake)
คำเตือน: ไม่ควรอ่านนิยายเรื่องนี้ขณะหิว หรือท้องว่าง
"อารมณ์เศร้า เลม่อนเค้ก (The Particular Sadness of Lemon Cake)"
ผู้เขียน: Aimee Bender
ผู้แปล: นพดล เวชสวัสดิ์
สนพ. กำมะหยี่, พิมพ์ครั้งแรก, มกราคม 2558
ทางสนพ. น่าจะขึ้นคำเตือนแบบ "หิว 18+" ไว้ให้หน่อย อ่านไปหิวไป ยิ่งช่วงท้ายๆ นี่อาหารแต่ละอย่างในเรื่องนี่ชวนน้ำลายสอ แล้วเห็นปกสีสันสวยงามแบบนี้ บรรยากาศในเรื่องนี่ตรงกันข้ามเลย อึดอัดเหนียวข้นไม่หยอก พล็อตแปลกดี ออกแนวแฟนตาซี ดราม่า สมกับที่ผู้เป็นพ่อพูดถึงครอบครัวไว้ในตอนหนึ่งว่า "ครอบครัวอลเวง" แม่ผู้ซึมเศร้าคบชู้ พ่อผู้ไม่ยอมก้าวเท้าเข้ารพ. ลูกชายผู้ชอบหายตัวไปเฉยๆ ส่วนลูกสาวก็รับรู้อารมณ์ของคนปรุงอาหารได้ผ่านทางอาหารที่กินเข้าไป มันอะไรกันหนอบ้านนี้
ช่วงวันเกิดครบ 9 ขวบของโรซี แม่อบเค้กเลมอนให้เธอตามคำขอ ระหว่างที่แม่พักงีบ เธอแอบชิมเค้กเข้าไปและพบกับความรู้สึกเศร้าเหลือแสนจากเค้กชิ้นนั้น นับจากวันนั้นโรสก็ค้นพบว่าเธอสามารถรับรู้ความรู้สึกของคนปรุงอาหาร และระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ โรสทรมานไม่น้อย เธอไม่สามารถกินอาหารที่บ้านอย่างเต็มอิ่มได้อีกต่อไป เพราะอาหารที่แม่ทำมีแต่รสแห่งความเศร้า เธอต้องใช้เงินค่าขนมไปซื้อขนมจากตู้ขายอัตโนมัติ ไม่ก็ฟาสต์ฟู้ด ตอนอายุ 12 เมื่อเธอกินโรสต์บีฟต์ที่แม่ทำในมื้อเย็นวันหนึ่ง เธอก็รู้ ว่าแม่นอกใจพ่อ...
เล่มนี้อ่านรวดเดียววันเดียวจบ สนุกดี ได้กลิ่นอายแบบงานของมูราคามิจางๆ ให้ความรู้สึกบีบอัด เห็นใจโรสนะที่ต้องมีความสามารถแบบนี้ เป็นเราคงแทบบ้า จะกินอะไรให้อร่อยนี่ต้องเจอคนทำที่มีใจรักในการปรุงอาหารจริงๆ ไม่งั้นก็เจอแต่อารมณ์กระแทกกระทั้น รันทด รักเว่อ หลากหลายท่วมท้น
ครอบครัวของโรสภายนอกก็ดูเป็นครอบครัวธรรมดาที่ดูมีความสุขดี แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนั้นมีช่องว่างที่มองไม่เห็นอยู่ แม่ของโรสนอกจากงานบ้านและการทำอาหาร แล้วก็มักจะสรรหางานอดิเรกมากมายทำอยู่เรื่อยๆ โจเซฟ พี่ชายพูดน้อยโลกส่วนตัวสูงระดับยอดเขาหิมาลัย (หรืออาจจะเอเวอเรสต์นะ) และมักจะหายตัวไปเฉยๆ ผู้เป็นพ่อทำงานด้านกฎหมาย ไม่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา เลิกงานก็กลับบ้านตรงเวลา แต่...ก็ทำงานต่อที่บ้านอยู่ดีอ่ะนะ เรื่องแปลกเกี่ยวกับผู้เป็นพ่อก็มีเรื่องเดียวคือการทีหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ยอมเข้าไปในรพ. เด็ดขาด (ขนาดตอนภรรยาคลอดลูก พี่แกยังไปส่งแค่ด้านหน้า ให้ภรรยาแบกท้องเดินเข้าไปเอง คิดดู๊วววว)
ความสามารถพิเศษของโรสนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่รู้ และเชื่อเธอ มีทั้งคนที่ใจดีเห็นใจเธอ และใช้ประโยชน์จากความสามารถของเธอเพื่อสนองความต้องการของตัว บ่อยครั้งที่การกระทำ หรือความคิดบางอย่างที่สื่อออกมาจากเรื่องทำให้เรารู้สึกว่าโรสเองก็กำลังร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัวอยู่เหมือนกัน "หนูหวังว่าน่าจะส่งข่าวสารให้ผู้ใหญ่รับรู้ แล้วมีผู้ใหญ่คนไหนรับข่าวสารได้บ้างไหม...ไม่เลย" (Aimee Bender, อารมณ์เศร้า เลม่อนเค้ก) หรืออย่างตอนที่เธอรู้ว่าแม่นอกใจพ่อ เธอทุบผนังห้องจนโจเซฟเดินออกจากห้องเขามาหาเธอเพื่อดูว่าเธอต้องการอะไร แม้ว่าสีหน้าของโจจะไม่สบอารมณ์ แต่โรสก็พอใจแล้ว เพราะเขาเป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอไม่ได้อยู่ในบ้านนั้นคนเดียว
บางครั้งที่ผู้ใหญ่อาจจะมองข้ามสัญญาณบางอย่าง ละเลยคนใกล้ตัว กว่าจะรู้ปัญหาก็อาจจะเกือบสายเกินไป หรือไม่ก็หลอกตัวเองแสร้งทำว่าไม่เป็นอะไร จนความรู้สึกย่ำแย่กู่ไม่กลับทำให้ตัดสินใจผิดพลาด หรือหันไปหาสิ่งเร้าใหม่ๆ เพื่อหลบหนีจากความรู้สึกแย่ๆ เหมือนอย่างที่แม่ของโรสนอกใจสามี ความรู้สึกตอนที่โรสรู้เรื่องของแม่ก็คงจะช็อกน่าดู ส่วนพ่อก็ดูจะทุ่มเวลาส่วนใหญ่ให้กับงาน แม้จะมีช่วงเวลาระหว่างมื้ออาหารที่มีปฏิสัมพันธ์กับภรรยาและลูกๆ บ้าง แต่เราว่ามันยังไม่พอจะถมช่องว่างให้แคบลง ในสายตาของลูกๆ คนเป็นพ่อเป็นแม่นี่ก็เหมือนเป็นซุปเปอร์ฮีโร่นะ ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าโลกมันกว้างใหญ่เหลือเกิน มีพ่อแม่เนี่ยแหละที่คอยปกป้องดูแล เป็นไอดอล พ่อแม่จะทำอะไรก็ดูง่ายดายไปเสียหมด ถ้าจู่ๆ มารู้ว่าพ่อกับแม่เราไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่คิดในวัยที่ยังไม่พร้อม มันก็เหมือนเจอแผ่นดินไหวสร้างรอยแตกในความเชื่อมั่นในหัวใจ "ดูเหมือนว่าเด็กส่วนใหญ่จะค้นพบว่า พ่อแม่ตัวเองเวาแหว่งมีตำหนิ เป็นคนธรรมดาที่มีบาดแผลติดตัว แต่การค้นพบนั้นเกิดขึ้นในยามที่พวกเขาเติบใหญ่แล้ว หนูไม่สบายใจนักที่ได้เห็นชัดเต็มตาบาดหัวใจในช่วงอายุน้อยขนาดนี้" (Aimee Bender, อารมณ์เศร้า เลม่อนเค้ก)
นอกจาก "อารมณ์เศร้า เลม่อนเค้ก (The Particular Sadness of Lemon Cake)" Aimee Bender ยังมีผลงานอีกเรื่องที่กำมะหยี่นำมาแปลก่อนเรื่องนี้ คือ "สาวน้อยกระโปรงเพลิง (The Girl in the Flammable Skirt)" แปลโดยคุณนพดลเช่นกัน อ่านอารมณ์เศร้า เลม่อนเค้กจบก็รู้สึกว่าต้องหยิบสาวน้อยกระโปรงเพลิงมาอ่านเสียที
Comments
Post a Comment