after the quake - ด้วยแรงสั่นไหว

"การมีชีวิตและการตายนั้น ในแง่หนึ่งแล้ว
ล้วนมีค่าเท่าเทียมกัน"
- นิมิต
(Haruki Murakami,
ไทยแลนด์ (after the quake),สนพ. กำมะหยี่, น. 115)



"After the Quake"

ผู้เขียน: Haruki Murakami
ผู้แปล: คมสัน นันทจิต
สนพ. กำมะหยี่, พิมพ์ครั้งแรก, ตุลาคม 2558

          รวมเรื่องสั้น 6 เรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในโกเบ ยูเอฟโอที่คุชิโร่ เรื่องของชายหนุ่มผู้ถูกภรรยาทิ้ง ด้วยเหตุว่าการอยู่กับเขานั้นช่างกลวงเปล่า, ทัศนียภาพกับเตารีด หญิงสาวผู้หนีออกจากบ้าน ชายหนุ่มนักดนตรี และชาย(ค่อนข้างแก่) ผู้ชอบก่อกองไฟ, บุตรหลานของพระเจ้าล้วนเริงระบำ โยชิยะ อยู่กับแม่แค่ 2 คน แม่ผู้ชอบเดินโป๊เปลือยในบ้านต่อหน้าลูกชาย, ไทยแลนด์ การพักผ่อนช่วงสั้น ๆ ในประเทศไทยของดร. ซัทสึคิหลังการประชุมงานทางวิชาการ โดยมีชายหนุ่ม(?)ชาวไทยเป็นทั้งไกด์และคนขับรถให้ตลอดทริป, กบคุงพิทักษ์โตเกียว กบคุงแวะมาที่บ้านของคะตะกิริและขอร้องให้เขาร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องโตเกียว!, พายน้ำผึ้ง เรื่องราวของเพื่อนรัก 3 คน ชาย 2 หญิง 1 และต่อมาเพิ่มเด็กหญิงเข้ามาอีก 1

          ทุกเรื่องล้วนมีความกลวงเปล่าภายใน เหตุการณ์ประหลาดไร้คำอธิบาย ล้วนแต่มีเหตุเชื่อมโยงอย่างใดอย่างหนึ่งกับเหตุแผ่นดินไหวในโกเบ ราวกับเป็น aftershock ที่ส่งผลกระทบมายังผู้คนเหล่านี้

          อ่านแล้วชอบมากกก ชอบตั้งแต่ปก ที่คั่น (แถมให้สำหรับคนที่ pre-order) สนพ. กำมะหยี่นับว่าเป็นสนพ. ที่ทำปกสวยมาก ๆ อยู่ใน 3 อันดับต้น ๆ ในใจเรา สำหรับเนื้อหา after the quake นับเป็นรวมเรื่องสั้นที่ชอบที่สุดในบรรดาผลงานเรื่องสั้นของเฮียเลย เล่มนี้เป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนมันสมบูรณ์ในแบบของมัน คือใจนึงก็อยากรู้เรื่องราวหลังจากตอนจบของแต่ละเรื่อง แต่ความรู้สึกลึก ๆ ก็บอกว่าไม่จำเป็น ไม่รู้จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดยังไงดี เอกลักษณ์ของการใส่ความเหงา ความว่างเปล่าภายในลึก ๆ ก็ยังคงอยู่ ความรู้สึกอั้น ๆ แบบไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร feeling blue สะท้อนผ่านตัวละครออกมาถึงเราแบบรับรู้ได้ 

          ชอบ กบคุงพิทักษ์โตเกียว กับ พายน้ำผึ้ง ที่สุดในบรรดา 6 เรื่อง กบคุงออกแนวผจญภัย action / fantasy เฮียน่าจะเอามาเขียนเป็นเรื่องยาว น่าจะสนุกไม่น้อย ส่วนพายน้ำผึ้ง ให้ความรู้สึกเหมือนวันครึ้มฝน บรรยากาศเย็นสบาย มีแสงแดดรำไร แต่ไม่ถึงกับสว่างใสแสบตา

         ตัวละครของเฮียไม่เคยกรีดร้องคร่ำครวญแสดงความสะเทือนใจออกมาให้เห็นทางกายภาพ บ่อยครั้งที่เราอ่านแล้วรู้สึกงง และขัดใจกับความนิ่งเฉยของตัวละครเหล่านั้น อย่างโคมูระในเรื่อง ยูเอฟโอที่คุชิโร่ เมื่อเห็นว่าภรรยาไม่กิน ไม่ดื่ม แล้วจู่ ๆ ก็หายไป เขากลับไม่ได้ทำอะไรเพื่อดึงเธอกลับมา ไม่ออกเดินทางไปตามหา แม้ว่าจะรัก และในใจจะเจ็บปวด ความเศร้าของเขาสื่อออกมาให้รับรู้ได้(บ้าง) แต่แล้วทำไมถึงไม่ทำอะไรเพื่อให้ภรรยากลับมาเลยล่ะ? แม้ว่าจะรับรู้ได้ว่าการตัดสินใจของเธอนั้นแน่วแน่แล้ว ไม่มีทางเปลี่ยน แต่ก็น่าจะทำอะไรสักอย่างไม่ใช่เหรอ?

          แต่ความนิ่งเฉย และความเงียบกริบในบรรยากาศกลับมีสเน่ห์อย่างประหลาดต่อความว่างโหวงในใจของตัวละครที่ส่งออกมาถึงเรา ภายนอกนิ่งสงบ แต่ข้างในคงกำลังกรีดร้องรอให้ใครสักคนมาได้ยินอยู่ล่ะมั้ง

Comments

Popular posts from this blog

[Spoiler Alert] เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) สปอยล์แหลกตามคำขอของน้อง

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) หนังสือดีๆ อีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่าน

ลำนำรักเทพสวรรค์ ภาค หนึ่งคำมั่น สัญญานิรันดร์ (Promise Me a Forever)